ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานล่าสุด “การติดตามเศรษฐกิจไทย” ชี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในสภาพอ่อนแรง มีแนวโน้มเติบโตช้าลง ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล มีความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลระหว่างเมืองกับชนบท นอกจากนี้ ทักษะการใช้เอไอของไทยยังอยู่ในระดับต่ำทั้งส่วนบุคคลและธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
รายงานการติดตามเศรษฐกิจไทย ของ ธนาคารโลก ซึ่งเผยแพร่ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2568 เผยว่า ไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.11 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกและการลงทุนของรัฐภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากความกังวลเรื่องของความปลอดภัย
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มเติบโตช้าลง จากเดิมขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.8 และลดลงเหลือร้อยละ 1.7 ในปี 2569
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจของไทยยังคงอ่อนแรง แม้อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน ร่วมกับราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ส่วนหนี้เสีย (NPL) ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.8 โดยที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีเงินทุนรองรับความเสี่ยงทางการเงินในระดับสูง แม้การให้สินเชื่อจะชะลอตัว
สำหรับปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้าโลกที่เพิ่มมากขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ล่าช้า ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจส่งผลต่อความการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐ
ในการรับมือกับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจเหล่านี้ รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคส่วนใหม่ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ร่วมกับการดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ และเพิ่มความหลากหลายของพันธมิตรทางการค้าเพื่อกระจายความเสี่ยง
รายงานกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่บนทางแยกสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ที่ไม่ใช่เพียงแต่การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ลดต้นทุน หรือปรับปรุงกระบวนการทำงาน แต่หมายถึงการพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นของประชาชน รวมถึงวิธีที่ประเทศไทยจะนำนวัตกรรมออกสู่ตลาดและการแข่งขันในเวทีโลก
ธนาคารโลกระบุในรายงานว่า แม้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของไทยมีแนวโน้มที่เป็นบวก ยังก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางสังคม และนวัตกรรมได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากมีข้อจำกัด เช่น ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายประจำที่ ร่วมกับความสามารถในการจ่ายค่าบริการอินเทร์เน็ตที่ยังคงเป็นข้อจำกัด ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงสำหรับประมวลผลแบบคลาวด์และเอไอ ซึ่งส่งผลต่อการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงในเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงทางไซเบอร์อยู่ในระดับสูง โดยอยู่ในอันดับต้นๆ ของดัชนีความเสี่ยงระดับโลก มีพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีที่ขยายตัว และขาดแคลนบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
รายงานยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีการใช้งานเทคโนโลยีเอไออยู่ในระดับต่ำ โดยเดือนมีนาคม 2567 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียงร้อยละ 6 ที่เข้าถึงGenerative AI ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคสำคัญได้แก่ ความรู้เท่าทันดิจิทัลที่ยังอยู่ในระดับต่ำ การขาดความตระหนักรู้และแรงจูงใจในการใช้งานเอไอ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย
ในรายงานเผยว่า คนวัยผู้ใหญ่ของไทยที่มีทักษะดิจิทัลในระดับปานกลางมีเพียงร้อยละ 5.1 และมีทักษะในระดับสูงมีเพียงร้อยละ 1 ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีมีประยุกต์มาใช้ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับความรู้เท่าทันดิจิทัลอย่างเร่งด่วน และเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่การจ้างงานที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
“แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติด้าน AI ถึง 7 ฉบับ แต่การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อพัฒนา AI ยังคงอยู่ในระดับจำกัดเมื่อเทียบกับประเทศผู้นำในภูมิภาค การใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเต็มศักยภาพจำเป็นต้องอาศัยความพยายามเชิงรุกในการบูรณาการเครื่องมือ AIเข้ากับบริการภาครัฐ ระบบการศึกษา และมาตรการสนับสนุน MSMEs” รายงานระบุ
ที่มา
Thailand Economic Monitor: Digital Pathway to Growth July 2025