ในวันที่หลายคนบอกว่า ประเทศไทยกำลังล้มเหลวโดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ จากอดีตที่เคยรุ่งโรจน์เข้าสู่ยุคที่ร่วงโรย แต่กลับมีนักธุรกิจจากบริษัทร่วมทุนกลุ่มหนึ่งพายเรือทวนกระแสน้ำ ด้วยการสร้างกระแสธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยดึงเอาศักยภาพที่เข้มแข็งของชาวสีรุ้งในไทยเข้ามาช่วยขับเคลื่อน และพร้อมที่จะลงทุนลงแรงร่วมปลุกปั้นธุรกิจ Startup หน้าใหม่ของไทยตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งไข่
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ประธาน บริษัท Canvas Ventures International จำกัด อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA มองเห็นศักยภาพของไทยในทางเศรษฐกิจอีกมาก ทั้งจำนวนของผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่รวมแล้วมากกว่าอีกหลายประเทศในอาเซียน และโดยเฉพาะศักยภาพในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Orange Economy และเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางเพศ หรือ Pink Economy ที่ประเทศไทยมีจุดแข็งเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร สามารถเป็นผู้นำและศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ได้ โดยนำเสนอแนวคิดและผลักดัน “เศรษฐกิจสีพีช” หรือ Peach Economy ซึ่งเกิดจากการผสานศักยภาพของเศรษฐกิจสีส้มกับสีชมพู เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ในการขับเคลื่อนสร้าง S-curve ใหม่ให้กับประเทศไทย
จากเสือตัวที่ห้าของเอเชีย กลายมาเป็นเพียงแมวบ้านเชื่องๆ
ดร.พันธุ์อาจ บอกว่า คนรุ่นใหม่ยุคนี้ที่เป็น Gen Y หรือ Gen Z อาจนึกภาพไม่ออกว่า เมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ไทยเคยเป็นว่าที่ “เสือตัวที่ 5” ทางด้านเศรษฐกิจของเอเชียต่อจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกงและ สิงคโปร์ เพราะตอนนั้น GDP ของไทยเติบโตมากที่สุดถึง 13% เรียกได้ว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยโชติช่วงชัชชวาลย์มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกวันนี้ ที่อัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.2-3.3% เท่านั้น
บริบทในช่วงนั้น ประเทศไทยมีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในด้านอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ทั้งจากอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงสินค้าเกษตร แต่ในทางกลับกัน ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้กลายมาเป็นกับดักที่ทำให้ไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมส่วนนี้เป็นหลัก จนยังไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ไปข้างหน้าได้
ดร.พันธุ์อาจบอกว่า ใช่ว่าการเติบโตที่ลดลงจะทำให้ประเทศชะงักงัน เพราะนับจากทศวรรษแห่งความโชติช่วงชัชชวาลย์ ได้ส่งผลให้ประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก 3 ด้านด้วยกัน
ด้านแรก ไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ (large conglomerate) ที่เป็นของคนไทยในระดับเดียวดับเกาหลี ญี่ปุุ่น และจีน แต่บริษัทเหล่านี้อยู่ในธุรกิจการเกษตร การก่อสร้าง การธนาคาร มีการจ้างงานจากภาคส่วนนี้จำนวนมากในระดับเดียวกับบริษัทข้ามชาติ เกิดมีเจ้าสัวหลายคนหลายรุ่น เกิดบริษัทเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย คือ ไทยเบฟเวอเรจ หรือ ThaiBev แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ไปถึงในระดับ Global Company
ด้านที่สอง การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไทยมีอัตราการลงทุนจากต่างประเทศสูงถึง 60-70% ซึ่งสัดส่วนการเติบโตของ GDP มาจากส่วนนี้เป็นหลัก แต่จุดนี้เองที่ทำให้ไทยติดกับดักอุตสาหกรรรมเฉพาะด้าน โดยการส่งออกหลักยังอยู่ที่อิเล็กทรอนิกส์แบบเก่าและยานยนต์สันดาปภายใน ซึ่งหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนไปใช้อิเล็กทรอนิกส์ใหม่และยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้โครงสร้าง Global Value Chain (GVC) ของไทยยังวนลูปอยู่ในสองอุตสาหกรรมนี้
ด้านที่สาม SME และ Startup ในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่โอกาสเติบโตยังต่ำ ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ไทยมีผู้ประกอบการเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หลายบริษัทเติบโตจนถึงขนาดที่มีหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ ยังไม่นับรวมบริษัทเล็กๆ ที่พยายามพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา แต่อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการเติบโตของบริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะการส่งเสริมจากภาครัฐในส่วนของนโยบาย
“ถ้ามองตามหลักเศรษฐศาสตร์ เรายังหนีไม่พ้นสิ่งเดิมๆ ที่เรามี ซึ่งมันคือ ข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) แต่ไม่ใช่ 'ความได้เปรียบในการแข่งขัน' (Competitive Advantage) เรามีข้อดีอะไรบ้างที่ทำให้ได้เปรียบประเทศอื่นๆ ตัวอย่างเช่น เราแทบจะไม่เคยเห็นบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ที่เป็นแบรนด์ไทยเลย เพราะเราแทบจะไม่ลงทุนกับนวัตกรรมใหม่ๆ” ดร.พันธุ์อาจกล่าว

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ประธาน บริษัท Canvas Ventures International จำกัด
ไทยมีศักยภาพ แต่ทำไมไม่โต?
เมื่อเหลียวมองประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เวียดนามมีรถยนต์ไฟฟ้า VinFast มาเลเซียมี Grab อินโดนีเซียมี Gojek ที่โตมาจาก Startup คำถามคือ เมื่อมองดูประเทศไทยไทย เรามีอะไร?
ดร.พันธุ์อาจมองว่า ประเทศไทยมีศักยภาพไม่ต่างจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บริษัทใหญ่ๆ ที่ครองสัดส่วนของตลาดในเอเชียหลายบริษัทเป็นบริษัทของไทย แต่ในแง่ Startup ไทยช้ากว่าประเทศในอาเซียนมาก
ธนาคารโลก ระบุในรายงานว่า ไทยมีศักยภาพ แต่ขาดการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจมานาน โดยยังเน้นพึ่งพาแต่การส่งออก และเน้นหนักไปที่การส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เพราะเห็นผลเร็วกว่าถ้าเทียบกับการลงทุนสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ การยกระดับสร้าง New S-curve ต้องใช้เวลา 3-5 ปี หรืออาจถึง 10 ปีจึงจะเห็นผล ซึ่งภาครัฐไม่รอนานขนาดนั้น ยังไม่นับรวมบริบททางการเมืองที่แนวนโยบายเปลี่ยนไปตามคณะรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ
"ถ้าเรามองในภาพกว้างอย่างที่กล่าวไปบ้างแล้วว่า เรามีเอกชน มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ ที่เติบโตเร็วมากในต่างจังหวัด แต่กลับกันการสนับสนุนจากรัฐยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ และพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษอย่าง ECC ในภาคตะวันออก ถึงแม้เราจะบอกว่า เรามีเชียงใหม่ เป็นอีกหัวเมืองใหญ่ที่เติบโตมาก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเชียงใหม่มีอัตราการเติบโตถดถอยลงทุกปี" ดร.พันธุ์อาจกล่าว
เมื่อเทียบกับเวียดนาม ซึ่งมีการกระจายเขตเศรษฐกิจพิเศษออกไปตามหัวเมืองอย่าง ฮานอย โฮจิมินซิตี้ ดานัง ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า สามารถพูดได้เต็มปากว่าความเจริญ การเติบโตทางเศรษฐกิจของสามเมืองนี้ไม่ห่างกันมากนัก ขณะที่ประเทศไทยเรานึกออกแค่กรุงเทพฯ
จะเกิดอะไรขึ้นกับไทยในอีก 10 ปี หากไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า ถ้าประเทศไทยไม่ทำอะไรเลย GDP ของไทยจะไม่โตเกินกว่า 3% อีกทั้งตอนนี้นอกจากปัจจัยภายในที่ SME ของไทยไม่เติบโตหรือเติบโตได้ช้า ยังมีปัจจัยภายนอกในระดับการเมืองโลกที่เรากำลังจะต้องเจอกับปัญหากำแพงภาษีจากสหรัฐฯ การกดดันให้ต้องเลือกข้างระหว่างมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่า ต้องกระทบกับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทขนาดใหญ่ อาจจะประคองตัวอยู่ได้เพราะมีเงินทุนที่ใหญ่และสายป่านที่ยาวกว่า แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในต่างจังหวัดที่กำลังเติบโต เพราะคนกลุ่มนี้ไม่มีกำลังเงินเพียงพอ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุน ก็อาจจะต้องล้มหายตายจากไปในวิกฤตินี้
ดร.พันธุ์อาจเสนอว่า ในสภาวะแบบนี้ สิ่งที่รัฐควรทำคือ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ไทยมีต้นทุนความชำนาญอยู่แล้ว เช่น การทำเกษตรแม่นยำ, smart tourism ตลอดจนอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการป้องกันสาธารณภัย โดยให้รัฐเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ควบคู่ไปกับการสร้าง New S-Curve ใหม่ๆ โดยทำทั้งสองส่วนคู่ขนานกันเพื่อให้การเติบโตของ GDP ขึ้นไปมากกว่า 3%
นอกจากนี้ ยังโจทย์ใหญ่ที่เพิ่มเข้ามา ซึ่ง ดร.พันธุ์อาจเห็นว่า ไทยจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญคือ ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า ไทยกำลังจะเข้าเป็น สมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD หากมองในแง่ดี คือ ไทยจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มของประเทศร่ำรวย มีที่ปรึกษาทางธุรกิจในระดับโลก แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจหลักร้อยฉบับ การสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการที่โปร่งใส ซึ่งยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ และไทยควรต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้กระทบระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
'Peach economy' ทางเลือกเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างสรรค์บนความหลากหลายทางเพศ
หากมองจากบริบทประเทศไทย ดร.พันธุ์อาจบอกว่า ต้องยอมรับว่าไทยมีความโดดเด่นในเรื่องอุตสากรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการส่งออกซีรีย์ละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQ+ หรือซีรีย์วาย เช่น Boys love หรือ Girls love ซึ่งสร้างมูลค่าหลักหลายร้อยล้านบาท และมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงมาก ในขณะที่ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในตัวเมือง เช่น กรุงเทพฯ ก็เป็นพื้นที่ปลอดภัยของกลุ่ม LGBTQ+ ดังที่หลายคนให้สัมภาษณ์ว่า กรุงเทพฯ คือ safe zone ของพวกเขา เห็นได้จากความโด่งดังของงานไพรด์ ซึ่งทั้งสองปัจจัยสอดรับกันเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะต่อยอดเพื่อสร้างศูนย์กลางธุรกิจสีพีชให้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย
ดร.พันธุ์อาจกล่าวว่า Canvas Ventures International มองเห็นศักยภาพ และความสามารถพิเศษในทางสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการชาวไทยที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดย Canvas Ventures International นำเสนอ “เศรษฐสีพีช” ภายใต้ความหวังที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตพ้นไปจากกับดักอุตสาหกรรมแบบเดิม และดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้มาลงทุนใน “เศรษฐสีพีช” ในประเทศไทย ซึ่งนโยบาย soft power จะเกิดขึ้นจริงได้ใน Peach Economy
นิยามของ เศรษฐกิจสีพีช หรือ Peach Economy เป็นการผสมสานกันระหว่างสีส้ม ซึ่งเป็นภาพแทนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry หรือ Orange Economy) และสีชมพู (Pink Economy) ซึ่งเป็นภาพแทนของเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
Canvas Ventures International (CVI) เป็นบริษัทพัฒนาผู้ประกอบการด้าน startup ที่ไม่เพียงแต่ลงทุนในกิจการและนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ยังเข้าไปปลุกปั้นและช่วยแนะนำแนวทางการดำเนินธุรกิจให้กับคนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่มีประสบการณ์หรือต้องการความชำนาญด้านการทำธุรกิจตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจ หรือในระยะที่เรียกว่า early stage ซึ่งในวงการนักลงทุนถือว่าเสี่ยงมาก เพราะไม่สามารถคาดการณ์ผลประกอบการณ์ในระยะ 10 หรือ 20 ปี ได้เลยว่า บริษัทที่พวกเขาเข้าไปลงทุนจะคืนทุนภายในกี่ปี จะขาดทุนหรือไม่ และผลประกอบการจะยั่งยืนหรือไม่
แต่สิ่งที่ Canvas Ventures International แตกต่างไปจากบริษัทร่วมทุนอื่นๆ คือ การให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือเศรษฐกิจสีส้ม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความหลากหลายทางเพศ หรือเศรษฐกิจสีชมพู ในขณะที่บริษัทร่วมทุนรายอื่นมักเลือกลงทุนใน startup ด้านเทคโนโลยี
"เรามองว่า Peach Economy จะเป็น Sector ใหม่ในวงการธุรกิจ ที่สำคัญเรามองว่า ธุรกิจในลักษณะนี้เหมาะกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มองหาความหลากหลายที่มากขึ้นตามไลฟ์สไตล์ของพวกเขา ซึ่ง Canvas Ventures International ในฐานะผู้ร่วมปลุกปั้นก็จะร่วมผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง ดึงดูดนักลงทุนที่สนใจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อที่ว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะก้าวพ้นวังวนเศรษฐกิจแบบเดิม และเป็นผู้นำเศรษฐกิจเฉดสีใหม่ในภูมิภาค และไทยอาจกลายมาเป็นว่าที่เสือตัวที่ห้าอีกครั้งในอนาคต" ดร.พันธุ์อาจกล่าว