ในสังคมผู้สูงอายุ "หนังสือ" เป็นสิ่งหนึ่งที่คนพบว่า เป็น "ยาวิเศษ" โดยงานศึกษาในอเมริกาเคยชี้ว่า คนที่อ่านหนังสือยิ่งเยอะ โอกาสตายยิ่งน้อย เช่น การอ่านหนังสือวันละเพียงครึ่งชั่วโมงในวัย 50 นั้นจะทำให้โอกาสตายในเวลา 12 ปีลดลงถึงเกือบ 25% หรือในอังกฤษก็มีการศึกษาว่า คนอ่านหนังสือมีโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้าน้อยกว่าคนไม่อ่าน รวมถึงมีแนวโน้มจะมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่า โดยอ่านแค่สัปดาห์ละ 20 นาทีก็เห็นผลแล้ว และไม่ต้องพูดถึงข้อดีอีกมากมายที่งานวิจัยพบเกี่ยวกับการอ่านหนังสือที่พอเดาได้ อย่างเช่น การกระตุ้นความจำ และการลดภาวะสมองเสื่อมอะไรแบบนี้
การอ่านหนึ่งสือ "ระดับปัจเจก" เป็นสิ่งที่ดีจริง แต่นักวิจัยญี่ปุ่นอยากไปไกลกว่านั้น และทำการศึกษาความสัมพันธ์ของสุขภาพคนแก่ในเขตต่างๆ กับจำนวนหนังสือต่อประชากรในเขตนั้น และได้ข้อค้นพบที่น่าสนใจระดับพิสดารเลยว่า คนแก่อายุเกิน 65 ปีที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีห้องสมุดที่มีหนังสือเยอะ จะยิ่งมีโอกาสแก่ไปล้มหมอนนอนเสื่อ จนต้องมีคนดูแลน้อยกว่าคนที่อยู่ในเขตที่ห้องสมุดมีหนังสือน้อย และนี่เป็นจริง ทั้งสำหรับคนที่อ่านหนังสือ และไม่อ่านหนังสือ
ผลวิจัยนี้เผยแพร่ในเดือนมิถุนายน 2025 มันพิสดารมาก ซึ่งกลุ่มตัวอย่างก็ใหญ่พอถึง 70,000 กว่าคนก็ยิ่งทำให้ผลวิจัยออกมาหนักแน่น และทำให้คนคาดเดาไปต่างๆ นานาทางนักวิจัยก็เลยต้องออกมาแถลง
หลักๆ คือ เค้าบอกว่า คนมักจะเดาว่า เขตที่ห้องสมุดมีหนังสือเยอะน่าจะเป็นเขตที่ "ร่ำรวย" ดังนั้น เขตร่ำรวย คนก็มักจะสุขภาพดีกว่า ก็ถูกแล้ว แต่นักวิจัยบอกว่า ไม่ใช่ เพราะเค้าลองปรับปัจจัยอื่นๆ ทั้งหมดแล้ว เช่น เปรียบเทียบ "รายได้เฉลี่ย" ของคนแก่ในแต่ละเขต เค้าก็ยังพบว่า เขตที่รายได้พอๆ กัน คนแก่ที่อยู่ในเขตที่จำนวนหนังสือต่อประชากรเยอะกว่า ก็สุขภาพดีกว่าจริง ดังนั้น มันไม่ได้เกี่ยวกับรายได้ หรือปัจจัยพื้นฐานทางประชากรอะไรทั้งนั้น มันเป็นอะไรบางอย่างที่เกี่ยวกับ "จำนวนหนังสือในห้องสมุด" จริงๆ
เค้าตีมาเป็นตัวเลขได้กลมๆ เลยว่า ในญี่ปุ่น จำนวนหนังสือของห้องสมุดประจำเขตโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2 เล่มต่อประชากร 1 คน ซึ่งเมื่อห้องสมุดที่มีหนังสือเพิ่มมา 1 เล่มต่อประชากร 1 คน โอกาสที่คนแก่ในเขตนั้นจะล้มหมอนนอนเสื่อตอนแก่จนต้องมีคนดูแลจะลดลงประมาณ 4% โดยมันขึ้นไปได้เต็มที่ถึง 34% ในเขตที่หนังสือในห้องสมุดสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 10 เล่มต่อไปประชากร
แล้วเหตุผลมันคืออะไรกันแน่?
นักวิจัยคาดเดาว่า จำนวนหนังสือในห้องสมุด "สะท้อน" ถึงการมี "กิจกรรมในห้องสมุด" พูดง่ายๆ คือ ห้องสมุดที่มีหนังสือเยอะ ก็แสดงว่าคนไปใช้เยอะ หรือแสดงว่าคนในเขตนั้นรวมๆ แล้วจะชอบเข้าห้องสมุด ซึ่งในญี่ปุ่น ภาพของพวกห้องสมุดสาธารณะคือเป็นที่ "แฮงก์เอาท์" ของพวกคนแก่ (ฟีลประมาณ "ศูนย์อาหาร" บ้านเรา) ซึ่งก็แน่นอน คนแก่ญี่ปุ่นไปอยู่หลายที่ (ประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของญี่ปุ่น อายุเกิน 65 ปี) ห้องสมุดก็เป็นหนึ่งในนั้น นักวิจัยก็เลยมองว่า จำนวนหนังสือที่เยอะ น่าจะหมายความว่าคนแก่ในเขตนั้นชอบ "เดินไปพบปะผู้คนที่ห้องสมุด" ไม่ใช่แค่ไปอ่านหนังสือ แต่ไปคุยกับผู้คน ซึ่งการมี "กิจกรรมทางสังคม" ของคนแก่ที่เพิ่มขึ้นก็มีคำอธิบายโดยงานศึกษามากมายอยู่แล้ว ว่ามันจะทำให้คนแก่ "สุขภาพดี" ขึ้นทั้งกายและใจ ซึ่งนั่นก็เป็นคำอธิบายว่า ทำไมคนแก่ในเขตเหล่านี้ถึงล้มหมอนนอนเสื่อน้อย
แน่นอน นี่เป็นการ "ตีความ" ที่ไปไกลพอสมควร แม้จะฟังดูสมเหตุสมผล แต่นักวิจัยก็เตือนว่า คนวางนโยบายก็อย่าดันทะลึ่งไปซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดส่งๆ เพื่อหวังว่ามันจะส่งพลังบางอย่างไปให้คนแก่ในอาณาบริเวณมีสุขภาพดีขึ้น เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับสุขภาพคนแก่ที่เค้ามองก็คือ พื้นที่พบปะกันและการมีกิจกรรมทางสังคม โดยห้องสมุดที่ยอดผู้เข้าใช้เยอะๆ แม้ว่าคนจะเข้ามาไม่อ่านหนังสือ แต่มันสร้างสถิติที่ดีที่ทำให้ห้องสมุดของงบซื้อหนังสือเพิ่มได้ หนังสือมันเลยเยอะ
ประเด็นเลยอยู่ที่จะทำยังไงที่จะสร้างพื้นที่ให้คนแก่ๆ มีกิจกรรมทางสังคมมากกว่าการเพิ่มหนังสือในห้องสมุดแบบลอยๆ
อ้างอิง
The more library books per capita, the fewer residents require nursing care: Japan study
Want to live longer? Read a book
Book up for a longer life: readers die later, study finds
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน