Skip to main content

จากผักที่ปลูกเพื่อการเรียนรู้ของเด็ในโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ (บ้านจ้อง) จ.เชียงใหม่ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัยของคนในชุมชน ทำให้ตลาดนัดมีสุข กลายเป็นพื้นที่แบ่งปันการเรียนรู้ใช้สื่อแบบสร้างสรรค์ 
      
เชิงชาญ  โนจา คณะทำงานของโครงการ จากโรงเรียนเทศบาลตำบลตลาดใหญ่ (บ้านจ้อง)  กล่าวว่า โครงการนี้ เริ่มจาก เดิมโรงเรียนแม่จ้องจะถูกยุบเพราะมี 45 คน  คนในชุมชนเลยปรึกษากัน เพราะจะต้องมีการถ่ายโอนโรงเรียน ซึ่งเราก็คิดว่า การมีกิจกรรมต่างจากที่อื่นน่าจะเป็นเรื่องที่ดิน เพราะในชีวิตประจำวัน นักเรียนต้องมีความสัมพันธ์กับคนในชุมชน เลยว่าลงตัวกับคำว่า ตลาดใหญ่อยากให้เห็นภาพตลาดใหญ่แบบมีสุข จึงให้นักเรียนปลูกผักในพื้นที่ของโรงเรียนที่มีอยู่เดิม เพื่อนำมาทำเป็นอาหารกลางวัน และพอเหลือจากอาหารกลางวันก็นำมาขาย เด็กๆ เลยได้มาลองขายของที่ตลาดนัดเริ่มจากหน้าโรงเรียนด้วย ซึ่งการปลูกผักก็เป็นไปตามฤดูกาล

สสส

จากนั้นก็เริ่มเห็นว่า เด็กๆนำภาพของผักที่ตนเองปลูกไปโพสต์ในกลุ่ม หรือในไลน์ ตอนหลังๆ ก็พบว่า มีการซื้อผักผ่านทางออนไลน์มากขึ้น และมีการจับจองจนหมด สำหรับผักที่นำมาขาย ราคาไม่ได้สูงมากแต่เด็กๆรู้สึกดีและมีคุณค่าทางจิตใจ 

สำหรับตลาดของเราจะเป็นหลักสูตรที่มีการผสมผสานการเรียนรู้ในทุกวิชา เวลาเด็กๆ นำผักมาขายก็ได้วิชาคณิตศาสตร์ หากมีคนมาซื้อเป็นชาวต่างชาติ เด็กๆจะได้พัฒนาด้านภาษา รวมถึง ได้เรียนรู้การวิถีสังคมชุมชนจากการพูดคุยกับผู้เฒ่าที่คอยสอนเกี่ยวกับการปลูกผัก เรียนรู้วิชาภูมิศาสตร์ เกี่ยวกับพื้นที่ไหน ปลูกผักอะไรแล้วจะงอกงามดี และจะมีการเชิญชวนรุ่นพี่มาร่วมเล่นดนตรีในตลาดแห่งนี้ เด็กจะได้พัฒนาทักษะด้านดนตรีและการแสดงออก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเรียนแบบบูรณาการ

ศักดา ไชยถา เจ้าของสวนสล่าอู๊ดน้องอาร์ท  ซึ่งเป็นหนึ่งในสวนที่เปิดรับให้นักเรียนเข้าไปเรียนรู้ เผยว่า สวนอินทรีย์แห่งนี้เปิดรับนักเรียนให้เข้ามาเรียนรู้วิถีการเกษตรแบบอินทรีย์และสามารถเข้ามาสอบถามหาความรู้ได้ตลอดเวลา ส่วนใหญ่เมื่อนักเรียนเข้ามาในสวน จะไม่ได้ใช้โทรศัพท์เพื่อฆ่าเวลา แต่ใช้ทำสื่อถ่ายทำกิจกรรมไปเผยแพร่ ซึ่งตนจะใช้เวลาในการเรียนรู้ร่วมกับเด็กๆด้วย เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้ร่วมกัน จะได้ทันต่อโลกในยุคที่เปลี่ยน 

สสส

สำหรับน้องๆของโรงเรียนบ้านจ้อง ต่างกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า ผักที่ถูกนำมาขาย พวกตนได้เข้าไปเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมดิน ปลูก รดน้ำ และเก็บผลผลิตมาขาย ที่สำคัญ ยังได้นำสื่อดิจิทัลที่มีวิทยากรมาสอนที่โรงเรียนได้มาสร้างสรรค์ถ่ายทอดและนำไปทำคลิปวิดีโอ เพื่อส่งต่อกันในกลุ่มไลน์ และ tiktok กลายเป็นช่องทางสำคัญในการขายสินค้าของตนและคนในชุมชน มากกว่ารายได้ คือความภาคภูมิใจที่สามารถช่วยเหลือครอบครัว และนำอาหารดีและปลอดภัย ส่งต่อให้บุคคลภายนอกได้ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 

กิตติญา ขันเขียว  ผู้ปกครองของนักเรียน เล่าว่า ลูกจะมีเวลาเล่นโทรศัพท์ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งพวกเขาใช้เพื่อการทำสื่อสร้างสรรค์ ที่สำคัญ เธอได้เรียนรู้วิธีการและร่วมเล่นและเรียนไปกับลูกด้วย ทำให้ความสัมพันธ์และความเข้าใจเรื่องสื่อดิจิทัล ดีขึ้น และได้เรียนรู้เกี่ยวกับสื่อที่ดีที่เหมาะสมกับลูกหลาน ตลาดนัดมีสุขจึงกลายเป็นพื้นที่หนึ่งในต้นแบบของการใช้ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาโควิด 19 ปัญหาการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก มาพัฒนาการเรียนรู้ในแบบที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนอื่นๆในท้องถิ่น เพื่อให้เด็กนักเรียนมีศักยภาพการเรียนรู้ด้านทักษะชีวิตที่สามารถพัฒนาต่อยอดนำไปใช้ได้จริงและมีความสุข ที่สำคัญ คือการสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิดและพร้อมจะพัฒนาชุมชนตนเองให้เข้มแข็งต่อไป

ห้องเรียน