Skip to main content

วิจัยเผยข้อจำกัด ภาระครอบครัวทำให้ผู้หญิงอาจไม่ก้าวหน้าในการงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าภายใน 10 ปีแรกยังไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ระดับผู้บริหาร หลังจากนี้ก็ถือว่าโอกาสน้อยมาก ขณะที่ทั่วโลก ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงยังมีจำนวนเพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

เว็บไซต์ บีบีซี รายงานว่าผู้หญิงนั้นจะขึ้นสู่ระดับผู้บริหารเป็นไปได้น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย เพราะผู้หญิงจะมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลครอบครัวมากขึ้น มีผู้หญิงทั่วโลกแค่ 23% ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร และตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสมีเพียง 29% ขณะที่คนทำงานที่เป็นผู้หญิงนั้นมีสัดส่วน 40% ของคนทำงานทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิจัยล่าสุดโดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ LinkedIn ซึ่งเป็นแฟลตฟอร์มเครือข่ายด้านการหางานที่มีคนนิยมใช้มากกว่า 770 ล้านแอคเคาท์ พบว่าจังหวะเวลาอาจมีบทบาทสำคัญกับโอกาสที่ผู้หญิงจะไปถึงตำแหน่งสูงสุดเหล่านั้น ผู้หญิงที่มุ่งสู่ความเป็นผู้นำ (กำหนดในการศึกษานี้ในฐานะผู้อำนวยการหรือตำแหน่งระดับ C) มักจะได้ตำแหน่งเหล่านี้ในช่วง 10 ปีแรกของอาชีพการงาน หลังจากนั้นโอกาสของพวกเธอก็จะลดลง

ปัจจัยอาจมาจากแรงกดดันจากการต้องมีลูกให้ครอบครัว บวกกับความจริงที่ว่าเมื่อพวกเธอกลายเป็นแม่คนแล้ว ก็มักจะดูแลเลี้ยงดูลูกเป็นส่วนใหญ่  ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากรู้สึกถูกบังคับให้ต้อง 'วิ่งด้วยความเร็ว' ในช่วงต้นของอาชีพการงาน ในขณะที่ผู้ชายอาจมีเวลาว่าง แต่ผู้หญิงต้องสร้างตัวเองให้เร็วที่สุด เพราะการที่อยู่ในตำแหน่งงานที่ดี จะส่งผลดีต่อการทำงาน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะประสบปัญหาด้านการเงินหรือทำให้อาชีพการงานหยุดชะงัก 

คาริน คิมโบรก (Karin Kimbrough) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ LinkedIn  ผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับกรอบเวลา 10 ปีแห่งการเป็นผู้นำ กล่าวว่า ผู้หญิงจะมีความกดดันอย่างมากกว่าจะไปถึงระดับสูงสุดของอาชีพ และประสบความสำเร็จทางการเงินก่อนที่จะเป็นแม่คน

คิมโบรก เรียกกระบวนการนี้ว่า 'การวิ่งด้วยความเร็วสูง' ขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ หมายความว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ไต่อันดับความเป็นผู้นำอย่างรวดเร็วจะมีโอกาสน้อยที่จะก้าวไปสู่จุดสูงสุดได้ และอาจหมายถึงพวกเขาต้องทำงานหนักกว่าปกติหรือเสียสละเวลาส่วนตัวแบบมหาศาลเพื่อก้าวขึ้นสู่ระดับสูงๆ ในช่วง 10 ปีที่สำคัญนี้

พวกเธอกำลังแข่งกับเวลา เพื่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า 'สถานะความเป็นแม่' ในปรากฏการณ์นี้ ผู้หญิงจะพบว่าอาชีพการงานของพวกเธอชะงักในด้านต่างๆ เช่น การเลื่อนตำแหน่งและรายจ่ายเพื่อลูกที่เกิดมา

การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นแม่คน ยังส่งผลต่อวิธีที่ผู้จัดการปฏิบัติต่อพนักงานผู้หญิงด้วย ผู้หญิงที่เป็นแม่คนจะได้รับการจัดอันดับความสามารถซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นแม่คนถึง 10% และมีโอกาสได้รับการแนะนำให้จ้างงานน้อยกว่าหกเท่า ในขณะที่ผู้ชาย 26% ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือย้ายไปทำงานที่ดีขึ้นในช่วงห้าปีแรกของการเป็นพ่อแม่ แต่ผู้หญิงมีเพียง 13% เท่านั้น

ด้าน คริสตีน สปาดาฟอร์ (Christine Spadafor) วิทยากรรับเชิญด้านความเป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์ที่ Tuck School of Business, Dartmouth College, US กล่าวว่า "มีความลำเอียงเกิดขึ้นต่อสตรีมีครรภ์และแม่คน โดยมองว่าพวกเธอมีความมุ่งมั่นน้อยลง มีความสามารถน้อยลง และพึ่งพาได้น้อยลง" ซึ่งอคติเหล่านี้ส่งผลถึงการประเมินประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถรั้งผู้หญิงไม่ให้ขึ้นสู่อันดับสูงสุดได้หลังจาก 10 ปีแรกของอาชีพการงาน นอกจากนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การลาเลี้ยงดูบุตรโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รวมถึงสถานรับดูแลเด็กก็มีราคาที่สูงมาก ทำให้พวกเธอต้องคิดหนัก และเป็นผลให้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะทำงานนอกเวลามากกว่าผู้ชาย เธอต้องเผชิญกับอุปสรรคเรื่องค่าจ้าง และสวัสดิการ ข้อมูลจากปี 2562 แสดงให้เห็นว่าช่องว่างดังกล่าวมีนัยสำคัญ มีเพียง 27.8% ของผู้หญิงในสหราชอาณาจักรที่ทำงานเต็มเวลาหลังจากคลอดลูกคนแรกได้ 3 ปี เทียบกับผู้ชายที่มีถึง 90%

ส่วนผู้หญิงที่มีความทะเยอทะยาน การวิ่งด้วยความเร็วนั้นก็เพื่อหลีกเลี่ยงอคติเหล่านี้ และผลกระทบที่ตามมากลายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงต้องลงแรงอย่างเต็มกำลังในการแข่งขันเพื่อขึ้นไปสู่จุดสูงสุด ในขณะที่ผู้ชายสามารถใช้วิธีก้าวเดินไปแต่ได้ผลเร็วกว่า

แต่ผู้หญิงที่สามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำได้ภายใน 10 ปีแรกของอาชีพการงาน อาจรู้สึกโล่งใจที่ได้รับตำแหน่งในระดับสูง แต่ความสำเร็จมักจะได้รับมาอย่างยากลำบาก จากสถิติแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงวัยทำงานมีแนวโน้มที่จะหมดไฟมากกว่าผู้ชาย โดย สปาดาฟอร์ กล่าวว่า “การประสบความสำเร็จให้มากที่สุดในช่วง 10 ปีแรกของอาชีพการงานสามารถทำให้เกิดความเหนื่อยหน่ายและความเครียดสำหรับผู้หญิงได้ เนื่องจากพวกเธอมุ่งเน้นไปที่การทำงานที่ดี สร้างชื่อเสียงที่ดีและก้าวไปสู่บทบาทความเป็นผู้นำ”  สิ่งนี้สามารถนำไปสู่ความเครียดทางร่างกายและสังคมตลอดจนปัญหาสุขภาพจิตที่จะคงอยู่นานหลายปี

การวิจัยอาจทำให้เห็นเส้นทางสู่ความเป็นผู้นำของผู้หญิงดูยากเย็น แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับมองโลกในแง่ดีว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป บางประเทศที่กำลังทำผลงานได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ เช่น สวีเดน สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส มีรายงานว่า พบผู้หญิงเป็นผู้นำในสัดส่วนสูง 

เคลลี ชู (Kelly Shue) ศาสตราจารย์ด้านการเงินที่ Yale School of Management ซึ่งเพิ่งเป็นหัวหน้าในการวิจัยว่าทำไมผู้หญิงมักถูกตัดสินว่ามีศักยภาพในการเป็นผู้นำน้อยกว่าผู้ชาย ให้เหตุผลว่าพวกเธอทำให้ฐานะบริษัทดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีบางอย่างที่ผู้หญิงสามารถทำได้ดีกว่าผู้ชาย เช่น การติดต่อผู้บังคับบัญชาที่ก้าวร้าว

ชู ได้เสนอวิธีที่บริษัทต่างๆ สามารถนำไปปรับเปลี่ยนได้ เช่น การประเมินศักยภาพการทำงานที่เป็นธรรม การเสนอการลาคลอดที่นานขึ้น ให้ความยืดหยุ่นในช่วงเวลาทำงานที่มากขึ้น และสนับสนุนสถานที่รับดูแลเด็กให้กับบรรดาแม่ๆ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากมีบทบาทในที่ทำงานมากขึ้น ยังส่งผลต่อการลดแรงกดดันที่ผู้หญิงต้องเผชิญใน 10 ปีแรกของอาชีพการงานอีกด้วย