ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ 'ฝีดาษลิง' หรือ 'ไข้ทรพิษลิง' (Monkeypox) เมื่อ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังเดินทางกลับจากไนจีเรียนั้น จนถึงปัจจุบันรายงานจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 309 ราย จาก 22 ประเทศแล้ว แต่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย
ที่มาของโรคฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิงเกิดจากไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ แต่ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่ามาก และผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ ส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ห่างไกลในประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้บริเวณที่เป็นป่าดิบชื้น โดยมีไวรัสสองสายพันธุ์หลักคือ แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก
อาการเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยจะแสดงอาการของโรคหลังติดเชื้อประมาณ 12 วัน อาการเบื้องต้นมีหลายอย่าง รวมถึง มีไข้, หนาวสั่น, ปวดหัว, เจ็บคอ, บวม, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ,ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลียและซึมเซา และเมื่อไข้ทุเลาลง อาจเกิดผื่นขึ้น มักจะเริ่มจากบนใบหน้าก่อน จากนั้นจะลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ส่วนใหญ่จะพบที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นนี้อาจจะมีการระคายเคืองอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงหลายขั้น ก่อนที่ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา รอยโรคนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นตามมา ซึ่งอาการป่วยกินเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
การติดต่อ
โรคฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายได้เมื่อมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก โรคนี้พบในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมทั้งคนก็อาจติดเชื้อได้ โดยคนสามารถติดโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือการกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ เป็นต้น การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่จากคนสู่คน
ยังไม่เคยมีการระบุว่า ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เชื้อโรคสามารถส่งต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้เชื้อโรคนี้ยังแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ อย่าง ผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า
ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ โรคฝีดาษลิง อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในบางกรณี และเคยมีรายงานว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคนในแอฟริกาตะวันตก โดยอัตราการตายสูงสุดอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึง 10%
การรักษา
ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ
การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผล 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และบางครั้งก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้อยู่ มีรายงานว่า สเปนกำลังเตรียมสั่งซื้อวัคซีนโรคฝีดาษหลายพันโดสเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การได้รับวัคซีนหลังสัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษลิง อาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรืออาจทำให้มีความรุนแรงของโรคลดลง
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้ว่า ประเทศไทยแต่เดิมปลูกฝีให้กับทุกคน โดยเฉพาะตั้งแต่แรกเกิด และโรคนี้สามารถควบคุมได้ และหมดไป จึงเลิกการปลูกฝีในประเทศไทย ประมาณปี พศ 2517 เป็นต้นมา และองค์การอนามัยโลกประกาศว่าฝีดาษหมดไปในปี พ.ศ 2523 ทั่วโลกจึงเลิกปลูกฝีตั้งแต่นั้นมา โดยประชากรไทยที่เกิดก่อนปี 2517 เกือบทุกคนมีการปลูกฝี หรือสังเกตได้จากการมีแผลเป็นของการปลูกฝี เป็นแผลเป็นที่แบนราบ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า ตอนนี้ยังไม่ต้องปลูกฝีป้องกันฝีดาษใหม่ เนื่องจากตอนนี้ทั่วโลกไม่มีวัคซีน โรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ (smallpox) มากเหมือนอดีต เพราะเป็นโรคที่ถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว จะมีเพียงบางประเทศที่ยังเก็บวัคซีนนี้ไว้ ส่วนประเทศไทยไม่มี กำลังประสานงานหาวัคซีนมีประเทศใดเก็บไว้บ้าง หรือถ้าจะผลิตเพิ่มต้องดูว่ามีบริษัทใดจะผลิตเพิ่มได้บ้างเพราะคงต้องใช้เชื้อ ซึ่งเชื้อ smallpox เดิมมีแค่ 2 ประเทศที่เก็บไว้ คือ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย แต่ก็สามารถจำลองสายพันธุ์ออกมาทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวจริงทั้งนี้ คนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ (smallpox) ทุกคนแต่ที่เกิดหลังจากปี 2523 จะไม่ได้รับวัคซีนนี้เพราะโรคฝีดาษถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว