Skip to main content

“ถ้าบ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตยแล้วก็เผด็จการยังอยู่ต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ว่าคนใหม่ไม่รู้ว่าใครแล้วแก้ไขปัญหาไม่ได้ แล้วมีคนจะช่วยผมลงค่าสมัคร ผมลงแน่นอน” วรัญชัย กล่าว

วรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครผู้ว่า กทม. หมายเลข 22 เล่าว่าเขาเคยลงสมัครมาแล้ว 6 ครั้งและครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533, 2535, 2539, 2543, 2547, 2556, และ 2565 ซึ่งปัญหาใน กทม. ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเดิมๆ เช่น การจราจร, น้ำท่วม, มลพิษ, ความสะอาด, และถนนหนทาง ขึ้นอยู่กับยุคไหนคนสนใจประเด็นใด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสาเหตุที่ปัญหาเหล่านี้ไม่ถูกแก้ วรัญชัย มองว่า เป็นเพราะผู้ว่า กทม. ขาดการประสานงาน ขาดวุฒิภาวะ ความร่วมมือ และแนวทางวิสัยทัศน์ และคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ คือ “โอ๊ย ไม่ใช่หน้าที่ผู้ว่า” “โอ๊ย ไม่มีกฎหมายรองรับ” “โอ๊ย ผมยังทำไม่ได้ กำลังศึกษา” เป็นต้น

เขากล่าวว่า พื้นที่ กทม. มีอยู่ประมาณ 1,500 ตร.กม. คนอยู่ในกรุงเทพฯ 8 ล้านคน มีทะเบียนบ้านอยู่ 5 ล้านคน มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งอยู่ 4 ล้านเศษ งานผู้ว่าฯ มี 2 งาน คือ บริหารคน และบริหารเมือง บริหารคนคือพวกคนยาก คนจน ขอทาน คนเร่ร่อน ส่วนเมือง คือ ถนน ฟุตบาท คลอง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เห็นว่าสาเหตุที่ต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. เพราะเป็นเมืองใหญ่และมีปัญหาที่ซับซ้อน จึงต้องการคนเก่งเข้ามาประสานงานและแก้ปัญหาให้ตอบโจทย์ แต่ก็เห็นด้วยที่ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดก็ควรจะมาจากการเลือกตั้ง ๆไม่ใช่การแต่งตั้งจากกรมการปกครอง เพราะทุกคนก็มีสิทธิ์เลือก ส.ส. แล้วจะแบ่งแยกว่าแค่กรุงเทพฯ ที่มีสิทธิ์ได้เลือกผู้ว่าราชการเป็นของตัวเองก็คงไม่ใช่

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ในวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ บางคนก็ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่การเลือกนั่นดูไม่ยาก เพราะมี 2 วิธีให้ตัดสินใจคือ จะเลือกคนใหม่หรือคนเก่า เพราะคนเก่าก็มีผลงานให้เห็นแล้ว เช่น การแก้ปัญหารถติด หรือน้ำท่วม ถ้าพอใจก็เลือกคนเก่าอย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่า กทม. และสกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่า กทม. ขณะที่จุดยืนทางการเมืองก็มี 2 กลุ่มคือ ฝ่ายประชาธิปไตย เช่น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, และน.ต.ศิธา ทิวารี ขณะที่ตัวเต็งฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ พล.ต.อ.อัศวิน, สกลธี, และสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ส่วนจะเป็นผู้สมัครอิสระหรือในนามพรรค เช่น ประชาธิปัตย์, ก้าวไกล, หรือไทยสร้างไทย วรัญชัย กล่าวว่า ไม่สำคัญเพราะผู้ที่ชนะการเลือกตั้งก็มีทั้งอิสระและมีสังกัด และส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้สมัครอิสระมากกว่า

จุดยืนของวรัญชัย กับการเมือง กทม.

วรัญชัย เปิดเผยว่า แม้หลายคนจะมองว่าเขาคือคนบ้าการเมือง แต่ที่เขาสนใจการเมืองมากเพราะว่าอยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เขาบอกว่า เพราะบ้านเมืองยังไม่ดี ยังไม่มีประชาธิปไตย ประชาชนยังเดือดร้อน จึงเป็นเหตุให้ต้องมาลงสมัครผู้ว่า กทม. 

เขาย้ำว่า จุดยืนที่แน่วแน่และมั่นคงคือ จะไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ แล้วก็จะไล่เผด็จการที่มามีอำนาจ มาเป็นนายกฯ โดยการยึดอำนาจเข้ามา เขาเล่าว่า เขาเข้าร่วมการขับไล่เผด็จการตั้งแต่ พล.อ.เกียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พ.ศ. 2521, พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522-2529, และ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ช่วง พ.ศ. 2534-2535 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เขามองว่าหลังเลือกตั้งผู้ว่า กทม. การไล่ทั้งในสภาและนอกสภาจะเข้มข้นยิ่งขึ้น เพราะพวกที่มาจากการยึดอำนาจ ลากตั้ง หรือเผด็จการ แก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองไม่ได้ แล้วถ้ายิ่งโกงกินหรือทุจริตก็ตรวจสอบไม่ได้ แถมยังมากดขี่ข่มเหงนักเรียน นักศึกษา ประชาชน โดยอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขายอมไม่ได้

“ผู้ว่า กทม. อย่าไปเฉยเมย โอ๊ย ผมไม่มีอำนาจหน้าที่หรอก ผมได้เป็นแค่ผู้ว่าฯ ทาง ผู้มีอำนาจสั่งมาผมก็ต้องทำตาม เขาสั่งให้เอาต้นไม้ไป ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ทำตาม ในที่สุดอนุสาวรีย์เลยทำกิจกรรมไม่ได้ ไปกีดขวางเขา อันนี้ใช้ไม่ได้เลย...อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตอนนี้ เอาต้นไม้มาวางหมดเลย ทำงาน ทำกิจกรรมก็ไม่ได้ เขาสร้างไว้ให้รถวนขวา ความจริงเขาสร้างไว้เพื่อรำลึกประชาธิปไตย มันไม่ไหว มันวนขวานี่ไม่มีประโยชน์ ใช้ไม่ได้” วรัญชัย กล่าว

สำหรับวรัญชัยเอง เขามีนโยบายที่จะให้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตเปิดเวทีให้ประชาชนในเขตนั้นๆ ได้มาแสดงความคิดเห็น และชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็เสนอแนวทางพัฒนาและแก้ปัญหากรุงเทพมหานครด้วยนโยบาย 4ดี 5ส. คือ เกิดดี, กินดี, อยู่ดี, และตายดี คือดูแลตั้งแต่เกิดให้ได้รับเงินอุดหนุนเลี้ยงดู มีอาหารการกินที่ดี มีที่พักอาศัย และเมื่อแก่ตัวไปเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษาที่ดี ส่วน 5ส. คือกรุงเทพฯ จะต้อง สะอาด สะดวก สบาย สว่าง สงบ และสวยงาม