Skip to main content

ที่สำนักงานนักเรียนคริสเตียน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ร่วมกับองค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล (PI) จัดเวทีสาธารณะ 'นส.3 ทับเขตป่า จับตาคดีต้นแบบศาลปกครองเตรียมอ่านคำพิพากษา เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายของเอกชน สู่แนวทางการจัดการที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ร่วมโฉนดชุมชน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้' โดยมี สุรพล สงฆ์รักษ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความในคดีที่ชุมชนสันติพัฒนายื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ออกโดยมิชอบ สมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร วิทยา อาภรณ์ นักวิชาการม.วลัยลักษณ์ และปรานม สมวงศ์ จากโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา

 

นักวิชาการเผย ปัญหาที่ดินทำสังคมไทยเหลื่อมล้ำสุดขีด

วิทยา อาภรณ์ นักวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินในประเทศไทยว่า สถิติจากกรมที่ดินเคยสำรวจพบว่าประเทศไทยมีที่ดินรวม 320 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ออกเป็นเอกสารสิทธิได้ 120 ล้านไร่ อีก 200 ล้านไร่ เป็นที่ดินที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ เช่น พื้นที่ชัน พื้นที่ป่าเขา หรือพื้นที่ทางทะเล อย่างไรก็ตามเมื่อไปดูตัวเลขในส่วนพื้นที่ที่ออกเอกสารสิทธิพบว่าในจำนวน 120 ล้านไร่ สัดส่วน 80% ตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ถือครองที่ดินรายใหญ่อยู่ประมาณ 3 ล้านคน และยังมีข้อมูลอีกว่า มีคนเพียง 1 คน ถือครองที่ดินมากถึง 6.3 แสนไร่ แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน
 
"ที่ดินเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะนำมาเป็นฐานของทุนนิยม เป็นต้นทุนการผลิต คนที่มีที่ดินเพื่อการยังชีพจะถูกกดไว้ หรือ บีบบังคับไปสู่การถือครองกรรมสิทธิที่สามารถแลกเปลี่ยนในตลาดได้ สุดท้ายแล้วกรรมสิทธิที่ดินของแต่ละกลุ่มจะถูกดูดไปเป็นกรรมสิทธิของคนกลุ่มเดียว คนที่มีทุนมาก ส่วนคนที่ใช้ชีวิตแบบยังชีพมีวิถีแบบในป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ และยังเป็นพื้นที่ที่รัฐประกาศทับอยู่"
วิทยา ระบุ

วิทยา กล่าวว่า ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินของนายทุนนั้น ทำให้ที่ดินถูกทิ้งร้าง ที่ดินที่มีอยู่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เพราะเป็นการถือครองเพื่อเก็งกำไร ซึ่งที่ดินไม่เหมือนทรัพย์สินอื่น เช่น เพชรนิลจินดาที่ไม่ว่าจะไปกองกับใครก็จะไม่ส่งผลกระทบกับคนอื่น แต่ที่ดินนี้ถ้าไปกระจุกตัวกับคนใดคนหนึ่ง จะมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  เพราะฉะนั้นการกระจายที่ดินเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแก้ไขปัญหา

"ปัญหาที่ดิน มาจากปัญหาของเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจออกไปสู่กลุ่มคน ท้องถิ่น ที่ยังกระจุกไว้ที่ส่วนกลาง สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา คือ ต้องใช้กลไกการปฏิรูปที่ดิน ใช้ระบบภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ใครมีที่ดินเยอะเสียภาษีเยอะ นอกจากนี้ยังมีระบบกรรมสิทธิของชุมชน โฉนดชุมชน ขณะเดียวกันเมื่อมีภาษีเพิ่มขึ้นอาจจะมีนายทุน ปล่อยที่ดินออกมา และถูกนายทุนอื่นช้อนซื้อได้ ดังนั้นจึงมีแนวทางธนาคารที่ดิน โดยธนาคารจะซื้อไว้เพื่อนำมาให้ประชาชนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง และต้องมีกองทุนยุติธรรม ให้ประชาชนเข้าถึงเงินประกันตัวในการต่อสู้คดีที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งการปฏิรูปที่ดิน คือการจำกัดการถือครองที่ดิน ที่ผ่านมาในพ.ร.บ.ที่ดิน เคยมีการกำหนดการถือครองที่ดิน แต่ถูกประกาศคณะปฏิวัติปี 2502ประกาศยกเลิก ถ้ายกเลิกประกาศคณะปฏิวัตินั้นได้ก็สามารถที่จะจำกัดการถือครองที่ดินได้" วิทยา กล่าว 

 

สกต.ชี้ ช่องโหว่กม.ที่ดิน ไม่ให้โอกาสคนจน 

ขณะที่ สุรพล สงฆ์รักษ์  นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดิน และกรรมการบริหาร สกต. กล่าวว่า สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ( สกต.) เป็นการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดินจำนวนทั้งสิ้น 5 ชุมชน ในการเข้ามาตรวจสอบที่ดินของรัฐที่หมดสัมปทานหรือการอนุญาตให้บริษัทเอกชนทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งในการลงตรวจสอบของ สกต. พบว่าในบางพื้นที่ที่เป็นของรัฐมีบริษัทเอกชนที่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงนั้นๆ แต่กลับบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายมาเกือบ 40 ปี ในทางกลับกันชุมชนสันติพัฒนาซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนสมาชิกของสกต.ที่ต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิในที่อยู่อาศัย และการบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน หรือสิทธิร่วมของชุมชน มาตั้งแต่ปี 2550 ต้องต่อสู้เผชิญหน้ากับบริษัทเอกชนซึ่งทำธุรกิจปาล์มน้ำมันที่เข้ามาบุกรุกในที่ดินในเขตของ ส.ป.ก. และพื้นที่ป่าไม้ถาวรของ กรมป่าไม้ จนไม่เหลือสภาพป่าเชิงประจักษ์ เพราะบริษัทได้ทำลายหมดไปนานแล้ว ยกเว้นพื้นที่ป่าชุมชน ประมาณ 100 ไร่ ที่สมาชิกชุมชนสันติพัฒนาได้ร่วมกับปลูกขึ้นมาใหม่ในระยะ 13-14 ปี ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา สกต.มีการเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาตรวจสอบการใช้ที่ดินจนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)   และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงมาตรวจสอบในพื้นที่และพบว่ากรมที่ดินได้ออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก รับรองการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้กับบริษัทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเรียกร้องให้กรมที่ดินต้องเพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวทั้งหมด 310 ไร่ แต่กรมที่ดินปล่อยปละละเลย ไม่ได้ดำเนินการเพื่อเพิกถอนเอกสารที่ออกโดยมิชอบ จนกลายมาเป็นใบอนุญาตที่ให้บริษัทเอกชนฟ้องร้องสมาชิกชุมชนสันติพัฒนาในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ทำให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินหลายสิบรายต้องถูกดำเนินคดีและถูกเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนหลายล้านบาท รวมถึงถูกสั่งให้ขับไล่ออกจากที่ดินดังกล่าวด้วย ในกรณีของชุมชนสันติพัฒนา บริษัทเอกชนที่มีข้อพิพาทคือบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกฟ้องในคดีศาลปกครองด้วย 

 

กมธ. เผยรับเรื่องร้องเรียนปมที่ดินกว่า 300 เรื่อง แต่แก้ไขได้แค่ 5% 

ด้านสมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีประชาชนเดินทางเข้ามาร้องเรียนที่กมธ.ที่ดินฯ มากกว่า 300  เรื่อง โดยพบว่าปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากนโนบายของรัฐที่ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดินกิน มีด้วยกัน 3 กรณีคือ 1.การได้รับผลกระทบจากประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ทับที่ของชาวบ้านจนทำให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นผู้บุกรุก ทั้ง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมและมีเอกสารกรรมสิทธิเดิมคือใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือใบใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบอื่น 2.การได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ทับพื้นที่ดั้งเดิมของชาวบ้าน เช่น กรณีของบางกลอย และพื้นที่เกาะที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนมีการประกาศ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น กลุ่มอุรักลาโว้ย หรือกลุ่มมอร์แกนก็ได้รับผลกระทบในนโยบายนี้เช่นกัน และการได้รับผลกระทบจากกรณีที่สปก. ออกประกาศพื้นที่ของสปก.ทับพื้นที่ของชาวบ้านอีกเช่นกัน โดยทั้ง 3 กรณีนี้แม้ชาวบ้านจะพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้เอกสารสิทธิมากแค่ไหนแต่กระบวนการของราชการก็เบียดขับให้คนตัวเล็กเข้าไม่ถึงระบบของการออกเอกสารสิทธิ์โดยชอบธรรมอยู่ดี

สมชาย ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาสามารถดำเนินการแก้ไขไปให้ประชาชนเพียง 5% จากเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนมาทั้งหมด โดยอุปสรรคที่พบ คือ ความล่าช้าของระบบราชการไทย โดยเฉพาะการทำงานกองแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ที่ลำดับการทำงานทั้งระดับชาติ ระดับกลาง และระดับจังหวัด ซึ่งกว่าแต่ละกองจะประชุมกันและมีมติในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้ นอกจากนี้เราพบว่าการพิสูจน์สิทธิของชาวบ้านต่อการเข้าถึงกรรมสิทธิที่ดินถือว่ามีอุปสรรคอย่างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีพิสูจน์ภาพถ่ายทางอากาศ เพราะชาวบ้านไม่มีต้นทุนเหมือนกลุ่มทุน ซึ่งถือเป็นข้อเสียเปรียบในการพิสูจน์ในชั้นศาล และถือเป็นการเปิดช่องสำคัญในการเกิดคอรรัปชั่นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มทุน

 

ทนายความเจ้าของคดี สกต.ชวนจับตาการอ่านคำสั่งของศาลปกครอง

ด้าน ศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความ กล่าวว่า ชุมชนสันติพัฒนาถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องทางแพ่ง ขับไล่ชาวบ้านชาวบ้านออกจากที่ดินสวนปาล์ม เรียกค่าเสียหาย 2 คดี จำนวน 15,000,000 บาท และฟ้องอาญาข้อหาบุกรุกอีก 1 คดี นอกจากนี้ยังมีคดีที่มีคนลอบสังหารชาวบ้านที่ต่อสู้เรื่องสิทธิที่ในที่ดินของสกต.อีก 1 คดีด้วย  ทั้งนี้ในคดีแพ่งที่บริษัทเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายกับชาวบ้าน ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ชาวบ้านชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,300,000 บาท และให้ออกจากพื้นที่ แต่ชุมชนได้ยืนยันไปแล้วว่าพื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่นั้นเป็นพื้นที่ของ สปก. โดยคดีนี้มีความน่าสนใจตรงที่ สปก.เจ้าของพื้นที่ที่ ในตอนหลังได้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าอยู่ได้ แต่ศาลในคดีแพ่งยังคงยึดหลักการเดิม โดยให้ บริษัทเอกชนมีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่ชาวบ้านได้ จึงกลายเป็นว่าเจ้าของที่ดินมีสิทธิน้อยกว่าบริษัทเอกชนที่มาละเมิดบุกรุกที่ดินของสปก.ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ในส่วนของบริษัทเอกชนที่เป็นคู่พิพาทเองก็ทำหนังสือในการยอมคืนพื้นที่ข้อพิพาทกับชาวบ้านให้กับสปก.แล้วด้วย ทั้งนี้คำพิพากษาของศาลแพ่งได้ขับไล่บุคคลที่บริษัทฟ้อง 12 คนและบริวารออกจากพื้นที่ชุมชนสันติพัฒนา  ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ได้ยื่นคำร้องเพื่อแสดงอำนาจพิเศษว่าเขาไม่ใช่บริวารของทั้ง 12 คน และชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ของสปก. ที่บริษัทได้คืนให้กับสปก.แล้ว ซึ่งกำลังจะมีการไต่สวนการขอแสดงอำนาจพิเศษในวันที่ 22 มี.ค.ที่จะถึงนี้ และที่สำคัญบริษัทเอกชนไม่ใช่เกษตร ชาวบ้านเป็นเกษตรกรดังนั้นสิทธิของเกษตรก็ควรที่จะมีสิทธิในการอยู่ทำกินในพื้นที่ของสปก.

ส่วนคดีที่ศาลปกครองชาวบ้านฟ้องเพิกถอนโฉนดที่ดินของบริษัทเอกชน ซึ่งศาลจะตัดสินในวันนี้ (19 มี.ค.) นี้ ขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกับจับตากรณีที่ศาลปกครองจะอ่านคำสั่งกรณีที่ชาวบ้านฟ้องเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของบริษัทเอกชนจากพื้นที่สปก. ซึ่งเป็นนส. 3 ก จำนวน 10 แปลง และพื้นที่โฉนดที่ออกโดยมิชอบอีก 13 แปลงที่บริษัทถือครองอยู่ โดยคดีนี้เป็นคดีที่ชาวบ้านเขาต่อสู้เพื่อนำที่ดินคืนให้กับรัฐ 

“เราร้องขอให้รัฐเพิกถอนโฉนดเพราะเป็นที่ป่าไม้ที่บริษัทเอกชนได้มีการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบ ซึ่งหน่วยทุกหน่วยยังไม่มีการเพิกถอนจนนำมาสู่เรื่องของการฟ้องคดีปกครองซึ่งจะเป็นนิมิตรหมายที่ดี และจะเป็นเรื่องที่ทำให้เห็นว่าบริษัทหรือนายทุนต่างๆที่บุกรุกป่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการที่จะเอาผืนป่าหรือที่ดินของรัฐกลับคืนมา และถ้าเห็นว่าป่าบริเวณนั้นเป็นป่าเสื่อมโทรมจะให้สปก.จัดสรรก็ควรเป็นชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรหรือคนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้น ไม่ใช่นำมาให้นายทุนถือครองในลักษณะนี้” ศิริวรรณ ระบุ

ศิริวรรณยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพรุ่งนี้ศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนด พน้อม นส.3 ก  จำนวน 10 แปลง ซึ่งเราคาดหวังว่ากรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน หรือผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดจะไม่ดำเนินการในเรื่องการอุธรณ์คดีต่อศาลปกปกครองสูงสุด เพราะถ้ายังอุทธรณ์อยู่เราจะไปขอบังคับคดีเพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิก็จะต้องรอออกไปก่อน  แต่ถ้าไม่มีการอุทธรณ์และกรมที่ดินไม่ยอมเพิกถอนเอกสารสิทธิตามคำสั่งศาล เราก็จะนำคำสั่งของศาลปกครองไปแสดงต่อที่ดินเพื่อเพิกถอนเพราะในคดีนี้เราฟ้องทั้งอธิบดีที่ดิน กรมที่ดิน คณะกรรรมการตรวจสอบที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และเรายังฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ดินจังหวัดสุราษฏร์ธานีด้วยที่เป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมถึงบริษัทเอกชน  ถ้ามีคำพิพากษาที่ออกมาเป็นประโยชน์เราก็สามารถนำไปใช้ได้เลย และหากพ้น 120 วันที่จะต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิตามที่ตุลาการผู้แถลงคดีได้เคยแถลงไว้ก็เป็นประเด็นที่สามารถดำเนิน