Skip to main content

สรุป

  • ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้สถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐฯ อย่างน้อย 69 แห่ง ยกเลิกพิจารณาคะแนนสอบมาตรฐาน (SAT/ACT) ในการรับสมัครนักศึกษาเข้าเรียนต่อในปี 2021 
  • สื่ออเมริกันชี้ การเรียนออนไลน์ช่วงโควิด-19 ขยายความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ทำให้เด็ก ม.ปลายจำนวนมากเข้าไม่ถึงคำแนะนำด้านการศึกษา รัฐต้องหาทางช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ
  • ทางด้านกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ เตรียมปรับปรุงหลักสูตรและกำหนดนโยบายการเรียนรู้ ‘หลังยุคโควิด-19’ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เป็นอยู่
  • คาดว่าการเรียนรู้ในอนาคตจะเพิ่มหลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาทักษะของผู้เรียน แทนที่จะเน้นหลักสูตรระยะยาวอย่างเดียว 
  • กรณีของไทย มีการขอเลื่อนสอบแอดมิชชั่น แต่กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงมติ ‘ไม่เลื่อนสอบ’ โดยระบุว่า “นักเรียนจำนวนมากมีความพร้อม”

หลายประเทศทั่วโลกพยายามช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากระบบการศึกษาที่เปลี่ยนไปในยุคแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น สหรัฐอเมริกา มีสถาบันอุดมศึกษายกเลิกพิจารณาผลคะแนนสอบกลางที่ใช้เป็นเกณฑ์หลักในการรับสมัครบุคคลเข้าเรียนต่อ

ขณะที่ ‘สิงคโปร์’ มีการออกมาตรการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงวางแผนระยะยาวเพื่อปรับหลักสูตรในอนาคต เช่น เพิ่มการศึกษาระยะสั้น และเจาะลึกที่การพัฒนาทักษะโดยตรง เพราะประเมินแล้วว่าบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ จะเข้ามาปั่นป่วนสถาบันการศึกษาให้มีการปรับตัวครั้งใหญ่

กรณีของไทย เครือข่ายนักเรียนมัธยมปลายและผู้ปกครองจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันขอเลื่อนสอบแอดมิชชั่น ซึ่งเป็นระบบกลางเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เช่นเดียวกับมีการติดแฮชแท็ก #Dek64ถูกทอดทิ้ง และ #เลื่อนสอบให้อนาคตของชาติ เพื่อสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดแพร่ระบาด แต่ผู้มีอำนาจในรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมติ 'ไม่เลื่อนสอบ'

::: สหรัฐฯ ประกาศ Test Blind – ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง :::

 

หากพิจารณาดูประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จะเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา โดยใน ‘สหรัฐอเมริกา’ มีสถาบันการศึกษาอย่างน้อย 69 แห่ง ประกาศนโยบาย Test Blind คือ ไม่พิจารณาคะแนนสอบกลาง (SAT/ACT) เป็นเกณฑ์หลักในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อ แต่พิจารณาจากเกรดเฉลี่ยกับวิชาที่เรียนสมัยมัธยมปลายและการสอบสัมภาษณ์เป็นหลัก

คะแนนสอบกลาง (SAT/ACT) อาจเทียบได้กับการสอบ O-NET/ GAT/ PAT ในไทย โดย ‘คริสโตเฟอร์ ริชาร์ด’ รองประธานฝ่ายบริหารการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเมน อีกหนึ่งในสถาบันที่ประกาศ Test Blind เผยผ่านสื่อว่า การตัดสินใจไม่พิจารณาคะแนนสอบกลาง เป็นการแสดงจุดยืนของสถาบันที่มีต่อนักเรียนและผู้ปกครองในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับทุกๆ คน

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเมนยังประกาศมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจสมัครเข้าเรียนต่อให้ทราบล่วงหน้า 3 เดือนก่อนถึงเวลารับสมัครเข้าศึกษาต่อตามปกติ เพื่อให้ผู้สมัครมีเวลาตัดสินใจได้นานขึ้น

ขณะที่เว็บไซต์ด้านการศึกษา ED Source ของสหรัฐฯ รายงานอ้างอิงสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ากว่า 30% ของนักเรียนที่จบการศึกษาภายในปี 2021 (พ.ศ.2564) ตัดสินใจไม่สมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นสถิติที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านการเงินและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้บางมหาวิทยาลัยในรัฐแคลิฟอร์เนียเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่มีข้อจำกัดในด้านนี้

tjevans / 4 images/ Pixabay

::: ‘สิงคโปร์’ ดัน ‘วุฒิการศึกษาลูกผสม’ ช่วยผู้ได้รับผลกระทบโควิด ::: 

 

กรณีศึกษาที่น่าสนใจอีกที่หนึ่งมาจาก ‘สิงคโปร์’ หนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนเช่นเดียวกับไทย ซึ่งได้รับการยอมรับด้านระบบการศึกษาในระดับมาตรฐานสากล จัดประชุมวิชาการด้านการศึกษาเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนว่าจะวางแผนปรับระบบการศึกษายุคหลังโควิดกันอย่างไร

สาเหตุที่รัฐบาลสิงคโปร์ผลักดันเรื่องนี้ เป็นเพราะจำนวนผู้เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาลดลงช่วงโควิด และในอนาคตย่อมจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและคุณภาพของบุคลากรที่จะเข้าทำงานอย่างไม่มีทางเลี่ยง ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ จึงระบุว่า การช่วยเหลือด้านการเงินแก่นักเรียนและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิดฯ ‘ไม่เพียงพอ’ ที่จะรับมือกับสิ่งที่จะตามมาได้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางอื่นๆ ร่วมด้วย

หว่องระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์จะพิจารณาเรื่อง ‘วุฒิการศึกษาลูกผสม’ (Hybrid degrees) ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนหลักสูตรและระยะเวลาการเรียนการสอนให้เข้ากับการเรียนรู้ออนไลน์ รวมถึงความต้องการของตลาดแรงงาน โดยหลักสูตรที่ว่านี้อาจเป็นการเรียนการสอนด้านวิชาชีพหรือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและเฉพาะด้าน ซึ่งจัดขึ้นในเวลาสั้นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาและความสามารถทางการเงินของผู้เรียน

นอกจากนี้ หว่องยังกล่าวถึงกรณีที่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ทั้งกูเกิล แอปเปิล และอื่นๆ ได้ประกาศผนึกกำลังกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ เสนอหลักสูตรการเรียนรู้ระยะสั้นในแบบออนไลน์ ซึ่งไม่ได้ดึงดูดแค่ผู้ที่มีความพร้อมในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่รวมถึงผู้สนใจการเรียนรู้ทางด้านนี้ในต่างประเทศด้วย สะท้อนให้เห็นว่า ต่อจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกจะถูกเทคโนโลยีปั่นป่วน (disrupt) จนต้องปรับรื้อโครงสร้างและการบริหารใหม่อย่างแน่นอน

::: ไทยไม่เลื่อนสอบ เพราะนักเรียนจำนวนมากมีความพร้อม :::

 

กรณีของไทย มีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายนักเรียนและผู้ปกครองหลายรายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้เลื่อนเวลาการสอบแอดมิชชั่น ซึ่งเป็นระบบกลางในการคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย (TCAS) โดยนักเรียนจำนวนมากต้องสอบต่อเนื่องในเวลา 3 สัปดาห์ และคาบเกี่ยวกับการเตรียมตัวสอบเพื่อจบการศึกษา จึงมีความยุ่งยากมากกว่าภาวะปกติที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมติว่า ‘ไม่เลื่อนสอบ’ โดยให้เหตุผลที่พอจะสรุปคร่าวๆ ได้ว่า สถานการณ์โควิดในปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อนักเรียนทุกคนเช่นเดียวกันทั้งประเทศ แต่มีการเรียนการสอนออนไลน์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงน่าจะมีโอกาสเรียนรู้-ปรับตัว ทั้งยังมีนักเรียนจำนวนมากที่มีความพร้อม (จะสอบแอดมิชชั่น) จึงยืนยันสอบตามกำหนดเดิม ทำให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ฟ้องศาลปกครองขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน สั่งเลื่อนการสอบ TCAS เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564

ท่าทีของไทยดูจะสวนทางกับบางประเทศที่ยกมาข้างต้นที่คำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย ในขณะที่แถลงการณ์ร่วมของ ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของไทย ไม่ได้กล่าวว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการช่วยเหลือเยียวยานักเรียนหรือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจนไม่สามารถเตรียมความพร้อมในการสอบ ทั้งที่หน่วยงานรัฐไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาที่เป็นปัจจัยหลักให้นักเรียนบางส่วนไม่อาจเตรียมพร้อมได้

หากเปรียบเทียบกับกรณีของสหรัฐฯ มีรายงานของสำนักข่าว CNN ที่บ่งชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาในสหรัฐฯ เป็นปัญหาใหญ่ช่วงโควิดแพร่ระบาด ส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากต้องเลิกเรียนและไปหางานทำแทน สถิติผู้สมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศสหรัฐฯ จึงลดลงเป็นปีที่ 2 เมื่อมหาวิทยาลัยหลายแห่งประกาศยกเลิกพิจารณาคะแนนสอบกลาง ทำให้มีผู้สมัครเข้าเรียนต่อเพิ่มขึ้น

แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างตรงที่สถาบันการศึกษาชื่อดังมีผู้สมัครเยอะกว่าสถาบันในท้องถิ่น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐฯ ต้องหาทางบริหารจัดการ เพราะการที่มีผู้เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาลดลงอาจส่งผลกระทบต่อการสร้างบุคลากรที่หลากหลายในระยะยาว

ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการสอบแอดมิชชั่นในไทย ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

 

ที่มา:

แถลงข่าวข้อเรียกร้องให้เลื่อนวันสอบ TCAS

The Future of Admissions: What changes from this year will stick?

'We decided to go test blind': University admissions requirements change due to COVID-19

College applications in pandemic year show deepening inequities in access to higher education

How the pandemic changed higher education in California

ST Education Forum: Covid-19 presents opportunity to revitalise university education

Wanted: Students For Admission To College