ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ศึกษาออกแบบโครงการ ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ (Free Pads for All) เนื่องจากตระหนักดีว่า ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติตามเพศสรีระ ที่บ่งบอกถึงวัยเจริญพันธุ์ของมนุษย์ ประจำเดือนและการใช้ผ้าอนามัยจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และไม่ใช่ความรับผิดชอบของเพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของสังคม ทั้งนี้ในเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน กำลังหันไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศ หลายประเทศมีนโยบายเกี่ยวข้องกับเรื่องประจำเดือน เช่น สกอตแลนด์ เป็นประเทศแรกที่ทำให้ผ้าอนามัยเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ฟรี หรือในหลายประเทศมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาษี ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ศึกษานโยบายนี้ในหลายประเทศเพื่อใช้เป็นต้นแบบและปรับให้สอดคล้องกับประเทศไทยมากที่สุด
ชานันท์ กล่าวว่า จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่า ผู้ที่มีประจำเดือนต้องใช้ผ้าอนามัยเดือนละ 15-35 ชิ้น คิดเป็น 350-400 บาทต่อเดือน หรือ 4,800 บาทต่อปี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่าย 192,000 บาทตลอดชีวิต ผู้มีประจำเดือนทุกคนต้องสูญเสียเงินหรือโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นเงินสูงถึงเกือบ 200,000 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ที่ 331 บาทต่อวันเท่านั้น นอกจากนี้ในการประเมินทางสถิติพบว่า 64.72% ของผู้เป็นประจำเดือนเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยอย่างเพียงพอ บางรายต้องใส่ซ้ำ ต้องหยุดทำงาน หยุดเรียน หรือใช้วัสดุอย่างอื่นแทน เพื่อลดการใช้ผ้าอนามัยเพราะไม่สามารถเข้าถึงได้
พรรคเพื่อไทยจึงได้ผลักดันการศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้าด้วยจุดประสงค์ดังนี้
1.ลดรายจ่ายประชาชน เพราะผ้าอนามัยคือรายจ่ายในครัวเรือน
2.ผู้มีประจำเดือนทุกคนต้องเข้าถึงสุขอนามัย
3.สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ
ชานันท์ กล่าวอีกว่า ผลการศึกษานโยบาย ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า ’ พรรคเพื่อไทยมองเห็นว่า หน่วยงานที่เหมาะสมที่สุดในการรับผิดชอบเรื่องนี้คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกพื้นที่ สามารถกระจายสิทธิประโยชน์เป็นมาตรฐานเดียวกัน และต้องมีการก่อตั้ง “กองทุนส่งเสริมสุขภาวะทางเพศ” ในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรคเพื่อเป็นตัวกลางในการจัดสรรงบประมาณ นอกจากนี้ผลการศึกษาได้ออกแบบระบบการเข้าถึงผ้าอนามัยตามวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของทุกกลุ่มประชากรไว้ 3 ช่องทางได้แก่
1. แจกผ่านหน่วยงานใต้การกำกับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีรายได้น้อย เด็กและเยาวชนในวัยเรียนแต่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา และผู้มีประจำเดือนในครอบครัวยากจน
2. แจกผ่านสถานบันการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษาตอนปลายถึงระดับมหาวิทยาลัย เรือนจำและสถานพินิจ
3.แจกผ่านแอปพลิเคชันของรัฐ โดยให้ประชาชนยืนยันสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน สามารถเลือกรับผ้าอนามัยได้ทั้งรูปแบบ ขนาด และจำนวนที่ต้องการ พร้อมทั้งสามารถเลือกสถานที่รับ หรือเลือกให้จัดส่งตามสถานที่ที่ต้องการ
ชานันท์ กล่าวอีกว่า จากการคำนวณราคาผ้าอนามัย จำนวนผู้ใช้ และจำนวนการใช้ คาดว่า งบประมาณทั้งหมดจะอยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาทต่อปี (หรือคิดเป็น 0.6 % ของงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น) ซึ่งงบประมาณจะมาจาก Vat 7% จากผ้าอนามัย เป็นสัดส่วนประมาณ 5.04 พันล้านบาท คำนวณจากจำนวนการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตผ้าอนามัย และรัฐบาลต้องสนับสนุนงบเพิ่มเติมประมาณ 1-1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ทางพรรคเพื่อไทยยังได้มีการทดลองโครงการ ‘ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ ภายในพรรคตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็นการนำร่อง ทดลองนโยบาย และจะนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงนโยบายเพื่อการพัฒนาต่อไป ทั้งนี้หากประชาชนท่านใดสนใจรายละเอียดของ การศึกษานโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ‘กี บุ๊ก’ เผยแพร่ผ่านทางนิทรรศการที่และเพจเฟซบุ๊กของพรรคเพื่อไทยในวันที่ 11 มีนาคม 2465
“หากนำภาษีผ้าอนามัย มาเป็นต้นทุนโครงการผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า จะทำให้ทุกคนเข้าถึงผ้าอนามัยร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ‘เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข’ เพราะทุกการซื้อผ้าอนามัย คือการซื้อเพื่อผู้มีประจำเดือนทุกคน ทุกภาษีจากผ้าอนามัย จะช่วยเหลือผู้มีประจำเดือนทุกคน สำหรับผ้าอนามัยที่จะนำมาเป็นรัฐสวัสดิการ พรรคเพื่อไทยได้มีการศึกษาแล้วว่าในการผลิตผ้าอนามัยจะต้องมีมาตรฐานตามกฎหมายและมาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้” ชานันท์ กล่าว