วานนี้ (7 มี.ค.) ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่สั่งให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินกับ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัทเกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัทสมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ทั้ง 6 บริษัท จำนวน 4,983,342,383 บาท และจำนวน 31,035,780 เหรียญสหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 2,629,915,324.92 บาท และ 15,714,123.69 เหรียญสหรัฐ ที่เป็นเงินค่าจ้างในการออกแบบและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งค่าเสียหายและดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 7,613,257,707.92 บาท และอีก 46,749,903.69 เหรียญสหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันชำระเสร็จ และให้กรมควบคุมมลพิษ คืนหนังสือค้ำประกัน พร้อมชำระค่าธรรมเนียม จำนวน 48 ล้านบาทให้บริษัททั้ง 6 รวมเป็นเงินที่กรมควบคุมมลพิษ ต้องชำระให้บริษัททั้งหกตามคำชี้ขาด ทั้งสิ้น 9,058,906,853.61 บาท
คดีดังกล่าว กระทรวงการคลังและกรมควบคุมมลพิษได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 และวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ได้แก่ พยานบุคคลและพยานเอกสารตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ยื่นส่งในชั้นสืบพยาน อันปรากฏข้อเท็จจริง อันทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีที่เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ที่แสดงความเชื่อมโยงความทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการทางการเมือง ร่วมกันกับเอกชนที่เอื้อประโยชน์ให้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ให้ใช้ในการก่อสร้างโครงการและให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสีย จังหวัดสมุทรปราการ จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน และสืบเนื่องจากผลของคำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 สำนักงาน ป.ป.ง. จึงมีหนังสือ ที่ ปง 0015.2/807 ลงวันที่ 16 พ.ค.2559 ถึงกรมควบคุมมลพิษแจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ที่ ย.148/2559 ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 อายัดเงินจำนวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้ชั่วคราว
นอกจากนั้น ยังปรากฏความไม่ชอบ ของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ที่มีสาเหตุจากการขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นกลางของนายเสถียร วงศ์วิเชียร ขณะเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายเอกชน ทั้งหมดนี้เป็นพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วในคดีของศาลปกครองเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังขอให้ศาลรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา และให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554
ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานของกรมควบคุมมลพิษเป็นพยานหลักฐานที่ล้วนมีอยู่ก่อนแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีครั้งก่อน และกรมควบคุมมลพิษได้รู้ถึงพยานหลักฐานดังกล่าวมาก่อนแล้วทั้งสิ้น และมิใช่กรณีที่คู่กรณีไม่อาจทราบถึงเหตุนั้นในการพิจารณาครั้งที่แล้วมา โดยมิใช่ความผิดของผู้นั้น ตามมาตรา 75 วรรคสอง กรณีจึงมิใช่พยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ และข้อเท็จจริงที่กรมควบคุมมลพิษกล่าวอ้างมิใช่ข้อเท็จจริงใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) (4) และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อันจะเป็นเหตุที่ขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองนั้นใหม่ได้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นและประเด็นระยะเวลาการยื่นคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใหม่อีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 ม.ค. 2554