Skip to main content

กัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำค็อกซ์บาซาร์ บังคลาเทศ และคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมของพรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าว The Opener ถึงประเด็นการค้ามนุษย์โรฮิงญาในประเทศไทย

เมื่อพูดถึงโรฮิงญา คนไทยหลายคนอาจเห็นภาพคนขายโรตีในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในสมัยที่ตนทำงานอยู่สภาความมั่นคงแห่งชาติมีอยู่ประมาณ 3,000 คน ในฐานะคนลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และโดนดูถูกจากคนไทยบางส่วน แต่ตนอยากให้มองอีกมุมว่าเขาเป็นคนเหมือนกันกับเรา แล้วทำไมคนเหล่านี้ถึงต้องทิ้งบ้านเกิด เดินทางมาเผชิญโชคและถูกปฏิบัติแบบพลเมืองชั้นสองในต่างแดน?

ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บริเวณรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา และประเทศบังคลาเทศ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถูกประเทศมหาอำนาจเกณฑ์เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของประเทศเมียนมาในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นพื้นที่รัฐกันชนต่อสู้กับพม่า และเมื่อสงครามจบ พวกเขาก็ยังคงปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่น ในมุมมองของรัฐบาลทหารพม่ามองว่าเป็นคนบังคลาเทศเพราะศาสนาและอัตลักษณ์ที่แตกต่าง แต่บังคลาเทศเองก็มองว่าพวกเขาเป็นคนพม่าเพราะไม่ได้พูดภาษาบังคลา และด้วยความแตกต่างด้านภาษา ศาสนา สีผิว ชาติพันธุ์ ฯลฯ ถูกนำมาสร้างเป็นวาทกรรมความเกลียดชังในประเทศเมียนมาร์ และนำไปสู่ความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย การข่มขืน การทำลายมัสยิด ฯลฯ จนพวกเขาต้องหนีตาย หรือหนีการประหัตประหาร ไปอยู่ต่างแดน โดยเป้าหมายแรกคือ บังคลาเทศ และประเทศมุสลิมอื่นๆ เช่น มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยผ่านพรมแดนประเทศไทย

ตามหลักของ UNHCR การหนีการประหัตประหารของชาวโรฮิงญาเรียกว่า ‘การลี้ภัย’ โดยพวกเขาต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มคนที่พาพวกเขาเดินทางไปยังพื้นที่อื่นทั้งทางบกและทางน้ำ หรือเรียกว่า ‘การลักลอบนำพา’และเมื่อถึงพรมแดนไทยอาจถูกเรียกเก็บเงินหรือขูดรีดให้จ่ายเงินเพิ่มเติมกว่าที่ตกลงกันไว้ หรือ ‘การค้ามนุษย์’ซึ่งกระบวนการผิดกฎหมายนี้เชื่อมโยงกับกลุ่มมาเฟียระหว่างประเทศ จึงยากที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะจัดการปัญหานี้ได้ภายในประเทศแบบการปิดประตูตีแมว ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง และยิ่งภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่ขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐจากประชาชน การปราบปรามปัญหาเหล่านี้จึงอาจจะเป็นเพียงการจัดฉาก และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

กัณวีร์ สืบแสง อดีตหัวหน้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำค็อกซ์บาซาร์ บังคลาเทศ

กัณวีร์ เสนอทางแก้ปัญหานี้ 3 ระดับ คือ ภายในประเทศ ไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ระดับภูมิภาค อาเซียนมีอนุสัญญาป้องกันการค้ามนุษย์แต่ไม่มีการอนุวัติการกฎหมายระดับภูมิภาค และระดับโลกคือ กฎหมาย Transnational Organized Crime ขณะเดียวกันรายงานค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาที่ประเทศไทยอยู่ Tier 2 Watchlist ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีให้ประเทศไทยเลื่อนลำดับตัวเองเป็น Tier 1 โดยการริเริ่มเป็นผู้นำในภูมิภาค ประสานความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ช่วยกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภูมิภาค เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่กระบวนการเหล่านี้เคลื่อนที่ผ่าน

ให้ความสำคัญกับด้านสิทธิมนุษยชนแล้วประเทศไทยจะได้อะไร?

สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือ อาชญากรรมลดลง ต่อมาคือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กัณวีร์ยกตัวอย่างประเทศซูดานใต้ หลังจากประกาศอิสรภาพ ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาผู้พลัดถิ่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา กลับมาที่ประเทศไทยหากไทยประสบความสำเร็จในการเป็นประเทศนำร่องในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยและการค้ามนุษย์ย่อมจะได้รับความช่วยเหลือและการลงทุนจากประเทศประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันยังจะสามารถสร้างมิตรภาพกับประเทศโลกมุสลิมจากการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นพี่น้องมุสลิมด้วย

และสุดท้าย หากรัฐปรับมุมมอง การให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย หรือบุคคลไร้สัญชาติ ไม่ใช่แค่โรฮิงญา แต่ยังมีชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น อุยกูร์ ให้มีที่พักอาศัยและมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อรอการเดินทางกลับประเทศต้นกำเนิด หรือไปตั้งรกรากในประเทศที่สาม ระหว่างนั้นพวกเขาก็สามารถที่จะเข้ามาทำงานในระบบแรงงานไทยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นฐานได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแรงงานเหล่านี้อีกหลายแสนคน และเมื่อพวกเขาสามารถตั้งรกรากในพื้นที่อื่นได้ พวกเขาก็ย่อมไม่ลืมประเทศไทย และจะสามารถเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยได้ด้วย เพราะพวกเขาคือพลเมืองโลก

พลเมืองโลก (Global Citizen) เป็นแนวคิดที่แพร่หลายในปัจจุบัน รัฐต้องปรับวิธีคิดและตามให้ทัน ต้องบริหารประเทศโดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เอารัฐเป็นที่ตั้ง เช่นเดียวกับหลักคิดของพรรคไทยสร้างไทยที่มุ่งฟังเสียงประชาชนคนตัวเล็ก กัณวีร์เชื่อว่าหากรัฐบริหารงานเพื่อตอบโจทย์ประชาชนเป็นหลัก มีกฎหมายที่เคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นสากล หลักการ Global Citizen และ #คนเท่ากัน ย่อมจะเกิดขึ้น