Skip to main content

สรุป

• “ก.ม.การพำนักของเยอรมนีไม่สามารถบังคับใช้กับพระมหากษัตริย์ไทย”
• “การปฏิบัติพระราชภารกิจของพระองค์ ไม่ถือเป็นการกระทำทางรัฐบาล”
•  “มีการหารือเรื่องการเมืองไทยกับทั้งตัวแทนรัฐบาลและภาคประชาสังคม”
•  “เยอรมนีจะไม่แสดงความเห็นในเรื่องที่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นความลับ”

ปลายปี 2563 ส.ส.พรรคกรีน (Die GrÜnen) และพรรคซ้าย (Die Linke) ของเยอรมนี ตั้งกระทู้ถามรัฐสภาบุนเดสทาก เพื่อถามถึงจุดยืนของรัฐบาลกลางเยอรมนีที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย พาดพิงกรณีผู้ชุมนุมยื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยเมื่อเดือน ต.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้ชี้แจงว่ามีการใช้พระราชอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ไทยบนดินแดนเยอรมนีซึ่งอาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายหรือไม่

รัฐบาลกลางเยอรมนีได้ดำเนินการสอบสวนและเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับประเทศไทย และมีหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการไปยังประธานสภาบุนเดสทาก โดยเอกสารลงวันที่ 5 ม.ค.2564 และเป็นการตอบคำถาม 23 ข้อของพรรคกรีน ตามที่ปรากฏในเอกสารรัฐสภาเลขที่ 19/25129 และคำถาม 21 ข้อของพรรคซ้าย ในเอกสารรัฐสภาเลขที่ 19/25150

คณะทำงานด้านประเทศไทย มูลนิธิอาเซียนเฮาส์ ประเทศเยอรมนี เปิดเผยรายละเอียดในเอกสารดังกล่าวกับ ‘ดิ โอเพนเนอร์’ เมื่อ 12 ม.ค.2564 โดยคณะทำงานฯ เป็นผู้แปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทย และเป็นการตอบข้อสงสัยของ ส.ส.ทั้งสองพรรคที่ตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนี และแนวทางของรัฐบาลกลางเยอรมนีที่มีต่อการชุมนุมประท้วงในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม บางกระทู้เกี่ยวกับ “พัฒนาการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย” รัฐบาลกลางเยอรมนีบอกว่า “ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้” เพราะมีการพูดคุยอย่างเป็นความลับกับหลายฝ่าย ส่วนคำถามถึงหน่วยทหารส่วนราชการในพระองค์ มีการชี้แจงว่า “เป็นข้อมูลที่ต้องปกปิด-สำหรับใช้ทางราชการเท่านั้น” ทั้งยังมีอีกหลายกระทู้ที่รัฐบาลกลางเยอรมนีตอบว่า “ไม่มีข้อมูล” และ “ไม่สามารถประเมินได้”

“ก.ม.การพำนักของเยอรมนีไม่สามารถบังคับใช้กับพระมหากษัตริย์ไทย” 

ส.ส.พรรคกรีนถามว่า “รัฐบาลกลางเยอรมนีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทราบอะไรบ้างเรื่องการประทับและระยะเวลาการประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนี”

รัฐบาลกลางเยอรมนีตอบคำถามรวมกันว่า “ทราบโดยทั่วไปว่าพระมหากษัตริย์ไทยเสด็จมาประทับทางตอนใต้ของเยอรมนีบ่อย และประทับอยู่ติดต่อกันเป็นเวลานาน” แต่ “รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเสด็จมาพำนักแต่ละครั้ง”

ส่วน ส.ส.พรรคซ้าย ถามว่า “ถ้าพระมหากษัตริย์ไทยทรงถือวีซ่าเพื่อการพำนักระยะยาว รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าวีซ่าของพระองค์จะหมดอายุลงเมื่อใด”

รัฐบาลกลางเยอรมนีตอบว่า “ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร กฎหมายการพำนักและข้อบังคับการเดินทางเข้าประเทศที่เกี่ยวข้อง มีผลบังคับใช้กับพระองค์ แต่ตามมาตรา 1 ย่อหน้า 2 ข้อ 2 ของกฎหมายการพำนัก กฎหมายการพำนักไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้กับองค์พระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐ”

อีกกระทู้ของ ส.ส.พรรคซ้าย ถามว่ารัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าคณะข้าราชบริพารผู้ติดตามถวายงานระหว่างที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จพระราชดำเนินมาประทับในเยอรมนีช่วงปี 2562-2563 มีจำนวนทั้งหมดกี่คน รัฐบาลกลางเยอรมนีตอบว่า “ไม่มีข้อมูล”

“การปฏิบัติพระราชภารกิจของพระองค์ ไม่ถือเป็นการกระทำทางรัฐบาล”

ส.ส.พรรคซ้ายถามว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงประทับอยู่ในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ในระหว่างที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศใช้นโยบายระดับประเทศบางฉบับ, โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทหารราชองครักษ์และคณะกรรมการในโครงการอนุรักษ์ ตลอดจนพระราชทานยศตำรวจ ระหว่างเดือน มี.ค. – ส.ค. 2563

รัฐบาลกลางเยอรมนีตอบว่า “ไม่มีข้อมูล” แต่ตอบคำถามเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกคำถามหนึ่ง โดยระบุว่า เท่าที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบ “พระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ในระหว่างที่ประทับในต่างแดน

นอกจากนี้ ส.ส.พรรคกรีนยังถามว่า “รัฐบาลกลางเยอรมนีนับว่าการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของกิจการทางรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับประเทศไทยหรือไม่”

คำตอบของรัฐบาลกลางเยอรมนี คือ “ตามรัฐธรรมนูญไทย พระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย การปฏิบัติพระราชภารกิจของพระองค์จึงไม่ถือเป็นกิจการทางรัฐบาล”

ส่วนคำถามอีกข้อหนึ่งของพรรคกรีน ถามว่า “มีทางเป็นไปได้ไหมว่า รัฐบาลกลางเยอรมนีจะสามารถทักท้วงหรือแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อพระราชจริยวัตรและพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยอย่างเต็มที่และชัดเจนให้สถานทูตไทยประจำประเทศเยอรมนีรับทราบ ท่ามกลางข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุด”

คำตอบที่ได้รับคือ “รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่สามารถประเมินได้”

“มีการหารือเรื่องการเมืองไทยกับทั้งตัวแทนรัฐบาลไทยและภาคประชาสังคม” 

ส.ส.พรรคกรีนและพรรคซ้ายได้กล่าวถึง “การชุมนุมโดยสงบ” ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด “นำโดยกลุ่มคนหนุ่มสาว นักเรียนและนักศึกษาซึ่งผนึกกำลังเข้ากับกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่ม LGBTIQ และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันในการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ความโปร่งใสทางการเมือง ความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม โอกาสอันเท่าเทียมกันและการสิ้นสุดการปกครองของระบอบทหาร” และถามถึงจุดยืนของรัฐบาลกลางเยอรมนีต่อกรณีนี้

รัฐบาลกลางเยอรมนีตอบว่า “พัฒนาการทางการเมืองภายในประเทศไทย” ถูกหยิบยกมาพูดคุยในบริบทของการหารือระดับสูงกับตัวแทนรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง แต่รายละเอียดการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลกลางเยอรมนีและเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบอร์ลิน ตลอดจนการพูดคุยระหว่างเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยกับรัฐบาลไทย และกับตัวแทนจากภาคประชาสังคม “ถือเป็นความลับ”

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากรัฐบาลกลางเยอรมนีว่าการเลือกตั้งปี 2562 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก ขณะที่การยุบพรรคอนาคตใหม่กลับเป็นการ “ก้าวถอยหลัง” เพราะทำให้ฝ่ายค้านในกลไกรัฐสภา “อ่อนกำลังลง”

ส่วนการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่และร่างรัฐธรรมนูญใหม่และการเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็น “พัฒนาการใหม่” ของประเทศไทย และรัฐบาลกลางเยอรมนีเห็นว่า “ฝ่ายอำนาจรัฐตอบโต้กลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ประท้วงโดยสันติได้อย่างเหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม “มี 3 ครั้งที่ตำรวจคุมฝูงชนใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาฉีดใส่กลุ่มผู้ชุมนุม” และ “การเผชิญหน้าครั้งรุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ 17 พ.ย. 2563 เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มทำลายสิ่งกีดขวางบริเวณหน้าอาคารรัฐสภาในช่วงประชุมสภา ตำรวจคุมฝูงชนได้ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาสกัดผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 55 คนตามตัวเลขทางการ หลังจากการชุมนุมยุติลงเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่ง มีผู้บาดเจ็บจากการถูกยิง 6 คน”

“เยอรมนีจะไม่แสดงความเห็นในเรื่องที่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นความลับ” 

ส.ส.พรรคกรีนถามถึงผลที่จะตามมาอย่างเป็นรูปธรรม หลังจาก ‘ไฮโค มาส’ รัฐมนตรีการต่างประเทศของรัฐบาลกลางเยอรมนี แถลงถึงกรณีตำรวจไทยใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุม โดยระบุว่ามี “ตัวเลือกหนึ่ง” คือการระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและไทยอีกครั้ง จึงถามว่ารัฐบาลกลางจะดำเนินการกดดันเรื่องนี้ในระดับสหภาพยุโรปอย่างไร

รัฐบาลกลางเยอรมนีตอบว่า ถ้อยแถลงของมาส “ยังมีผลต่อไปตามเดิม” และมีการ “เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์การใช้อาวุธปืนยิงในบริเวณที่ชุมนุมอย่างรัดกุม” ทั้งยังประสานติดต่อกับรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม รวมถึงการปฏิบัติตามครรลองของหลักนิติรัฐ

เมื่อมีคำถามว่า ผู้แทนของรัฐบาลกลางเยอรมนีได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับรัฐบาลไทยและเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเยอรมนีเกี่ยวกับ “พัฒนาการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย” อย่างไรบ้าง ได้รับคำตอบว่า “โดยทั่วไปแล้ว เยอรมนีจะไม่แสดงความเห็นในเรื่องที่มีการพูดคุยกันอย่างเป็นความลับ”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลางเยอรมนีระบุถึงกรณี ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่หายตัวไปในกัมพูชา โดยระบุว่า รัฐบาลกลางเยอรมนีแจ้งเตือนไปยังตัวแทนรัฐบาลไทยให้เร่งชี้แจงรายละเอียด “โดยปราศจากช่องโหว่” ในกรณีนี้ ทั้งยังสอบถามรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลสูญหายในกรณีอื่นๆ และเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชน และให้ติดตามหาตัวผู้สูญหายเหล่านั้น

ส่วนพรรคซ้ายตั้งคำถามว่า “รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของหน่วยทหารส่วนราชการในพระองค์ 2 หน่วย หากทราบ คือหน่วยงานอะไร และรัฐบาลกลางเยอรมนีทราบข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนกำลังพลและกำลังยุทโธปกรณ์มากน้อยประการใด”

รัฐบาลกลางเยอรมนีตอบว่า “ตามอำนาจแห่งมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับวันที่ 6 เมษายน 2560 พระมหากษัตริย์ไทยทรงดำรงตำแหน่งองค์จอมทัพไทย การเปิดเผยข้อมูลส่วนนี้อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีและผลประโยชน์ทางการต่างประเทศของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้ ดังนั้นข้อมูลเรื่องนี้จึงถือเป็นข้อมูลที่ต้องปกปิด-สำหรับใช้ทางราชการเท่านั้น”