ภายหลังจากที่ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ไม่เอาร่างกฎหมายทำลายสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ล่าสุดได้มีเครือข่ายประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน และประชาชนเข้าร่วมลงชื่อกับแถลงการณ์ของกลุ่มแล้วกว่า 64 องค์กร และมีประชาชนเข้าร่วมลงชื่อด้วยอีกจำนวน 31 คน
เลิศศักด์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหัวหน้าพรรคสามัญชนและตัวแทนขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนกล่าวว่า ในการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ตนอยากสื่อสารสองด้าน คือหนึ่งสื่อสารให้พี่น้องในขบวนการเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมเองได้ตระหนักให้มากกว่านี้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาในรอบ 10 กว่าปี รวมทั้งประสบการณ์ในการเสนอร่างกฎหมายของภาคประชาชน มันถึงเวลาที่ต้องทบทวนแบบจริงจังแล้วว่า การใช้คนไม่กี่คนโดยเฉพาะคนที่อยู่ในแวดวงนี้มานาน ไปเจรจาล๊อบบี้พูดคุยกับรัฐบาลเพื่อขอให้ภาคประชาชนมีสัดส่วนที่นั่งบ้างในการพิจารณากฎหมาย มันเป็นวิถีทางที่ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมาพิจารณาจากร่างกกฎหมายฉบับนี้ ที่เป็นกฎหมายที่กระทบต่อผู้คนอย่างกว้างขวาง การปรึกษาหารือเพื่อแสดงความคิดเห็นเพื่อมีส่วนร่วมเพื่อตัดสินใจต้องกว้างและลึกกว่านี้ ซึ่งรูปแบบที่เป็นอยู่กลายเป็นวัฒนธรรมของเอ็นจีโอที่ไม่สนใจขบวนการเคลื่อนไหวและทำให้เห็นว่าเอ็นจีโอทำได้แค่เจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ประโยชน์เล็กๆน้อยๆบ้างก็เอา ทั้ง ๆ ที่ขบวนการประชาชนที่มากไปกว่าเอ็นจีโอเขาต้องการกล้าได้กล้าเสียมากกว่านั้น เขาต้องการต่อต้าน ต่อสู้ และต้องการแสดงเจตนารมณ์ที่มากกว่านั้น
การรวมกลุ่มของประชาชนที่มากกว่า 2 คนขึ้นไปก็จะได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายฉบับนี้ ในมาตรา 20 มาตราเดียว องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องไม่ดำเนินการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม ซึ่งถือเป็นคำนิยามที่เยอะและตีความได้กว้างขวางมาก ซึ่งในรัฐธรรมนูญต้องการให้ประชาชนเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ตื่นตัวให้เข้ามาร่วมกับรัฐในการพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้ประเทศชาติบ้านเมืองของเราพัฒนาไปให้ดีขึ้นเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
ขณะนี้ได้มีองค์กรที่เข้าร่วมลงชื่อกับเรามากถึง 64 องค์กรและประชาชนเขาร่วมลงชื่ออีกกว่า 31 คน ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงพลังที่ไม่สยบยอมต่อความฉ้อฉลในการร่างกฎหมาย และอยากขอขอเชิญชวนทุกคนที่เห็นด้วยกับพวกเราในครั้งนี้สามารถร่วมลงชื่อได้ผ่านลิงค์ดังกล่าวนี้ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScq1PmmOJiltLU7jAhk85cyfF5psueqO-0qahoyhRmwoA0DyQ/viewform?usp=sf_link นักปกป้องสิทธิมนุษยชนหัวหน้าพรรคสามัญชนและตัวแทนขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนกล่าว
ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และเจ้าของรางวัลแมกไซไซปี 2560 ที่ได้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้เช่นกันระบุว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายใดๆที่เปิดโอกาสให้มีการควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคม เพราะกฎหมายที่มีอยู่สามารถตรวจสอบการทำงานของภาคประชาสังคมได้อย่างเพียงพอแล้ว เช่น กฎหมายฟอกเงิน เป็นต้น การออกกฎหมายเฉพาะเพื่อกำกับการทำงานของภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชน จึงถูกมองว่าอาจเกิดจากอคติ หรือความไม่ไว้วางใจของรัฐที่มีต่อภาคประชาสังคมบางองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
"ทั้งนี้ อาจมีคนทำงานภาคประชาสังคมบางกลุ่มสนับสนุนให้รัฐบาลรับรองร่างกฎหมายส่งเสริมการทำงานของภาคประชาสังคม (กฎหมายเข้าชื่อ) ไปก่อน แต่ส่วนตัวเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังมีข้อบกพร่องในหลายมาตรา และไม่ครอบคลุมการทำงานขององค์กรเอกชนทุกกลุ่ม อีกทั้งร่างฉบับดังกล่าว มิได้มีการรับฟังอย่างกว้างขวางในบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระและปราศจากความกลัว จึงขอให้ผู้เสนอร่างทบทวนและรับฟังความคิดเห็นขององค์กรเอกชนทุกกลุ่มที่มีส่วนได้เสีย และร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลถอนร่างทั้ง 4 ฉบับออกไปโดยเร็ว" อังคณา กล่าว