Skip to main content

‘ลูกสาวผู้สนับสนุนเผด็จการ’ และ ‘Chun Doo-hwan of Thailand’ กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงขึ้นมาท่ามกลางแฮ็ชแท็กร้อน #SITALA และ #แบนลูกหนัง ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่วิพากษ์วิจารณ์การเตรียมเดบิวต์ ‘ลูกหนัง-ศีตลา วงษ์กระจ่าง’ ลูกสาวของ ‘ตั้ว-ศรันยู’ อดีตพระเอกดังผู้ล่วงลับ ในฐานะหนึ่งในศิลปินของวงเกิร์ลกรุ๊ป ‘H1-KEY’ โดยประวัติการร่วมเคลื่อนไหวกับ ‘กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ และ ‘กปปส.’ ของพ่อของเธอกลายเป็นปมสำคัญที่ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยจำนวนมากต่อต้านการเดบิวต์ ขณะที่ตัวของศีตลาเองก็ถูกขุดภาพในอดีตที่เคยร่วมม็อบกปปส. ด้วยเช่นกัน

ผู้คัดค้านการเดบิวต์มองว่าทั้งศีตลาและครอบครัวสนับสนุนเผด็จการ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของทั้งพันธมิตรและกปปส. เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 ซึ่งผลพวงของการมีรัฐบาลจากการรัฐประหารและสืบทอดอำนาจได้ส่งผลให้คุณภาพชีวิตคนไทยและระดับสิทธิเสรีภาพในสังคมถอยหลังลงคลอง

หนึ่งในเหตุผลที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทยจำนวนหนึ่งพยายามยกขึ้นมาเพื่อสื่อสารให้ต้นสังกัดและผู้ใช้โซเชียลมีเดียในเกาหลีใต้เห็นภาพยิ่งขึ้น ก็คือการเปรียบเทียบว่าการที่ครอบครัวของเธอสนับสนุนเผด็จการในไทยก็ไม่ต่างอะไรจากการสนับสนุน ‘ชอนดูฮวาน’ อดีตผู้นำเผด็จการเกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1980 ทำให้คำว่า ‘Chun Doo-hwan of Thailand’ หรือ ‘ชอนดูฮวานของไทย’ จึงถูกพูดถึงขึ้นมาในแฮ็ชแท็กนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานจากสื่อบันเทิงเกาหลีใต้ว่ากระแสคัดค้านการเดบิวต์จากเหตุผลที่เธอเป็น ‘ลูกสาวผู้สนับสนุนเผด็จการ’ ก็ขยายไปยังผู้ใช้โซเชียลมีเดียในเกาหลีใต้ด้วย

ความจริงแล้วประเด็น #แบนลูกหนัง เกิดขึ้นไม่นานหลังเพิ่งมีเหตุการณ์ที่เน้นย้ำอีกครั้งถึงบาดแผลในประวัติศาสตร์ของเกาหลีใต้ภายใต้การปกครองของเผด็จการ จากการที่ ‘ชอนดูฮวาน’ เพิ่งเสียชีวิตที่บ้านพักในกรุงโซลเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมาด้วยวัย 90 ปี หลังสุขภาพย่ำแย่จากมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยนายชอนจากโลกนี้ไปโดยไม่เคย ‘ขอโทษ’ ต่อการประหัตประหารชีวิตประชาชนอย่างโหดร้ายภายใต้การปกครองของเขาเลย

ชอนดูฮวานเกิดเมื่อปี 2474 และเป็นคนจังหวัดคย็องซังใต้ เข้าเรียนทหารเมื่อปี 2494 ซึ่งระหว่างอยู่ในกองทัพเขายังได้ก่อตั้งกลุ่มทหารที่ชื่อ ‘ฮานาฮเว’ ซึ่งสมาชิกกลุ่มลับนี้มีบทบาทสำคัญในการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2522 เพียงเดือนกว่าๆ หลังเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดี ‘พัคจุงฮี’ ที่ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง โดยในเวลาดังกล่าวชอนดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองบัญชาการรักษาความมั่นคงกองทัพและเป็นผู้นำในการสืบสวนเหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้นด้วย

เมื่อชอนดูฮวานยึดอำนาจในวันที่ 12 ธ.ค. 2522 ก็ได้ประกาศกฎอัยการศึกครอบคลุมทั่วประเทศก่อนจะยุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปีต่อมา โดยเมื่อเดือนพ.ค. 2523 เขาเป็นผู้สั่งปราบปรามนองเลือดประชาชนในเมืองควังจูที่ออกมาต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพ รายงานระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนถูกสังหารไปอย่างน้อย 200 คน และบาดเจ็บอีกประมาณ 1,800 คน ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐครั้งเลวร้ายที่สุดของเกาหลีใต้ ซึ่งหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ในควังจูนายชอนก็ขึ้นสู่อำนาจอย่างเป็นทางการในเดือน ก.ย. ปีเดียวกันนั้นเอง โดยเขาปกครองประเทศภายใต้กำปั้นเหล็กยาวนานถึง 8 ปีผ่านการเลือกตั้งทางอ้อมด้วยรัฐธรรมนูญที่เขาเป็นผู้ผลักดันเองซึ่งให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้วาระเดียวเป็นเวลา 7 ปี และถึงแม้เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะเติบโตในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งประธานาธิบดีได้โดยตรงก็หนักหน่วงขึ้น โดยกระแสเรียกร้องขึ้นสู่จุดสูงจุดในเดือนมิ.ย. ปี 2530 ที่นำโดยนักศึกษาและประชาชน ซึ่งทำให้ชอนดูฮวานไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับข้อเรียกร้องให้มีระบบการเลือกตั้งทางตรงในท้ายที่สุด โดยชอนเลือก 'โนแทอู' มือขวาของเขาที่ร่วมในการก่อรัฐประหาร ปราบปรามที่ควังจู เป็นผู้ชิงตำแหน่งจากพรรคยุติธรรมประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น โดยโนแทอูเอาชนะคู่แข่งจากฝ่ายค้านมาได้เฉียดฉิว

หลังลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2531 ชอนดูฮวาน เผชิญข้อกล่าวหามากมาย ซึ่งรวมถึงการทุจริตที่ทำให้เขาต้องออกแถลงการณ์ต่อสาธารณะเพื่อขอโทษต่อความผิดพลาดในอดีตระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และบริจาคเงินกว่า 16,000 ล้านวอน ให้กับกองทุนการเมืองและกองทุนอื่นๆ ก่อนจะไปลี้ภัยในวัดพุทธแห่งหนึ่งจังหวัดคังวอน แต่ก็กลับมาอยู่บ้านพักของตัวเองในปี 2533

จนกระทั่งปี 2539 นายชอนดูฮวาน และ ‘โนแทอู’ ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏและการฝ่าฝืนคำสั่งจากการรัฐประหารเมื่อปี 2522 และการสังหารหมู่ประชาชนในควังจู ไปจนถึงการรับสินบนระหว่างเป็นประธานาธิบดี โดยนายชอนถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนโนแทอูถูกลงโทษจำคุก 22 ปี แต่ภายหลังทั้งคู่ได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดี ‘คิมยองซัม’ เมื่อเดือนธ.ค. ปี 2540 ด้วยเหตุผลว่าการอภัยโทษเป็นไปเพื่อส่งเสริมความปรองดองแห่งชาติ

ไม่เคยสำนึกผิดต่อประชาชน 

ชอนดูฮวานไม่เคยขอโทษต่อเหยื่อในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ควังจู ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เอสบีเอสเมื่อปี 2545 ชอนระบุว่าการประท้วงในควังจูเป็นการก่อ ‘จลาจล’ โดยประชาชนที่ติดอาวุธ ดังนั้นจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการใช้กฎอัยการศึกและกองทัพเข้าควบคุม

ส่วนในบันทึกปี 2560 ชอนเขียนเอาไว้ว่า “ไม่มีคำใดจะบรรยายเหตุการณ์ลุกฮือ 18 พ.ค. ได้นอกจากการจลาจล” นอกจากนี้เขายังอ้างว่าไม่ได้สั่งการให้ทหารยิงผู้ประท้วงที่ควังจู ทั้งยังประณามบาทหลวงคาทอลิกที่ให้การว่าเห็นทหารยิงประชาชนจากเฮลิคอปเตอร์ในเหตุปราบปรามดังกล่าวว่าเป็น ‘ปีศาจ’ และ ‘จอมโกหก’ ซึ่งความเห็นดังกล่าวของชอนได้ทำให้เขาถูกดำเนินคดีฐานให้ร้าย แต่นายชอนก็มาเสียชีวิตไปก่อนการตัดสินคดีจะถึงที่สุด

ทั้งนี้ รายงานระบุว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนชอนดูฮวาน กล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่าการประท้วงในควังจูถูกสั่งการโดยผู้ฝักใฝ่เกาหลีเหนือ

ในพิธีศพของชอนดูฮวานเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ‘อีซุนจา’ ภรรยาของชอนดูฮวาน ได้กล่าวในฐานะตัวแทนของสามี ‘ขอโทษอย่างสุดซึ้ง’ โดยเฉพาะต่อผู้ที่เผชิญความเจ็บปวดและบาดแผลในช่วงที่นายชอนดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ซึ่งเว็บไซต์หนังสือพิมพ์โคเรียไทม์สรายงานว่าในตอนแรกเข้าใจกันว่าคำขอโทษดังกล่าวหมายถึงขอโทษต่อเหยื่อในเหตุสังหารหมู่ที่ควังจู แต่กลุ่มประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวดังกล่าวและครอบครัวของผู้สูญเสียวิจารณ์ว่า นี่เป็นคำขอโทษที่กลวงเปล่า โดยพวกเขาไม่สามารถยอมรับคำขอโทษนี้ได้

โคเรียไทม์สรายงานว่า ‘มินจุงกี’ ซึ่งเคยเป็นเลขาของชอนดูฮวานเผยกับผู้สื่อข่าวท้องถิ่นหลังจากนั้นว่า สิ่งที่ภรรยาของชอนดูฮวานพูดไม่ได้หมายถึงเหตุการณ์ที่ควังจู โดยเธอพูดชัดว่า ‘ระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี’ แต่เหตุการณ์ที่ควังจูเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 ก.ย. 2523 ที่สมัยของชอนได้เริ่มอย่างเป็นทางการ และเมื่อถูกถามว่า ‘ผู้ที่เผชิญความเจ็บปวดและบาดแผล’ หมายถึงใคร คนสนิทของชอนดูฮวานก็บอกว่ามีนักศึกษาที่ร่วมในการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งอื่นๆ และเสียชีวิตระหว่างการทรมานของตำรวจในช่วงที่ชอนเป็นประธานาธิบดี โดยนายชอน ‘ไม่ได้รับผิดชอบโดยตรง แต่อย่างไรเขาก็เป็นประธานาธิบดี’

ความเคลื่อนไหวนี้ยิ่งทำให้กลุ่มประชาสังคมมองว่า คำขอโทษของภรรยาชอนดูฮวานยิ่งไร้ความหมายเข้าไปอีก และมีแต่จะทำให้บาดแผลยิ่งแย่ลง ‘ชเวฮยองโฮ’ หัวหน้าสาขาโซลของมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (The May 18 Memorial Foundation) ระบุว่าการขอโทษอย่างจริงใจก็คือต้องให้ครอบครัวของชอนมาคุกเข่าต่อหน้าสุสานของเหยื่อ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเปิดเผยความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในควังจู เช่น ชอนดูฮวานได้สั่งให้ทหารยิงประชาชนจากเฮลิคอปเตอร์หรือไม่ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่นายชอนปฏิเสธมาเสมอแม้ว่าจะมีพยาน หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ของรูกระสุนบนที่สูงของอาคาร และมีผู้บาดเจ็บมาโรงพยาบาลด้วยบาดแผลที่สอดคล้องว่ามีการยิงลงมาจากข้างบนก็ตาม นอกจากนี้ยังควรแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินที่บรรดาผู้ช่วยของนายชอนสะสมเอาไว้อย่างผิดกฎหมายระหว่างที่เขาอยู่ในตำแหน่งด้วย

ขณะที่ผู้ทำงานเกี่ยวกับเหยื่อสังหารหมู่ควังจูบางคนก็บอกว่า ครอบครัวของชอนดูฮวานควรแสดงความจริงใจต่อคำขอโทษด้วยการกระทำ ที่รวมถึงการให้ความร่วมมือกับกระบวนการค้นหาความจริงต่อความผิดพลาดของชอนดูฮวาน

ด้านสำนักข่าว VOA รายงานความเห็นของ ‘อีกีบอง’ หัวหน้ากลุ่มประชาสังคมกลุ่มหนึ่งที่ก่อตั้งโดยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในควังจูที่ระบุว่า การตายของชอนดูฮวานไม่ได้แก้ไขความบอบช้ำที่เกิดขึ้น อาชญากรที่ใข้ความรุนแรงโดยรัฐมีชีวิตยืนยาวและตายไปท่ามกลางความมั่งคั่ง ขณะที่ความเจ็บปวดของประชาชนในควังจูยังดำเนินต่อไป

ทั้งนี้ VOA ระบุว่า แม้การเสียชีวิตของอดีตผู้นำเผด็จการจะเป็นการเปิดบาดแผลขึ้นมาอีกครั้ง แต่ผู้ได้รับผลกระทบหลายคนจากเหตุสังหารหมู่ควังจูมีความแน่วแน่ที่จะไม่ให้การตายของเขาฝังกลับความจริงที่เกิดขึ้น โดย ‘อีแจอุย’ หนึ่งในผู้ร่วมประท้วงที่ควังจูขณะเป็นนักศึกษาบอกว่า แม้เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ชอนปฏิเสธความรับผิดชอบต่อเหตุการสังหารหมู่ที่ควังจูจนช่วงสุดท้ายของชีวิต แต่ก็มองว่าผู้รอดชีวิตจะต้องร่วมภารกิจประวัติศาสตร์ในการค้นหาความจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไปให้เสร็จสมบูรณ์

อ้างอิง 
- K-Netizens Rally Behind Thai Netizens Who Oppose H1-KEY Sitala’s Debut—The Thai Member Who Supports Military Dictatorship
- South Korea's ex-dictator Chun: the 'Butcher of Gwangju'
- Victims of Late S. Korean Dictator Vow Fight for Historical Justice
- Apology by Chun's widow not meant for Gwangju massacre victims
- Chun dies without apologies for scars left in Gwangju
- Former strongman Chun Doo-hwan dies at 90