WHO ส่งสัญญาณเตือน แนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว ห่วงเด็กนักเรียนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น วงการแพทย์และเครือข่ายสุขภาพไทยที่ยึดหลัก "ปลอดภัยไว้ก่อน" ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลก เปิดเผยรายงาน การสำรวจการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กนักเรียนไทยในโรงเรียน อายุ 13-15 ปี 2563 อันเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจระดับโลก พบว่า อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนไทยในเดือนก่อนการสำรวจ เท่ากับ 7.7% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2558 ที่อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่ 3.5% เป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวภายในเวลา 5 ปี ในขณะที่ผลสำรวจของไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่ 0.13% และเพิ่มขึ้นเป็น 0.8% ในปี 2564 โดยแบ่งตามอายุ ดังนี้ อายุ 15-19 ปี อยู่ที่ 1.9% อายุ 20-24 ปี อยู่ที่ 2.1% อายุ 25-44 ปี อยู่ที่ 1.1% อายุ 45-59 ปี อยู่ที่ 0.3% และอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 0.1% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภายใต้นโยบายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนไทย และประชากรที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ยังเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และ 6 เท่าตามลำดับ ดังนั้น หากเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย ยิ่งมีความเสี่ยงที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่ายทั้งจากช่องทางที่ถูกและผิดกฎหมาย
"ปัญหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากหรือน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา หรือบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีการใช้มาประมาณ 10 กว่าปีนี้เอง แต่อย่างไรก็ตาม หลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายได้ปรากฏเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้งนี้ ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนแล้วคือ เด็กและเยาวชนที่ไม่สูบบุหรี่มีอัตราการสูบและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด และจากการติดตามพบว่ามีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดา มากกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า" ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อไปว่า ความเห็นที่แตกต่างระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากับฝ่ายที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า คือ ฝ่ายที่สนับสนุนคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้วเป็นหลักว่า ต้องการจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยกว่า (ซึ่งยังสรุปไม่ได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า และหลักฐานที่บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้ยังไม่ชัดเจน ตามความเห็นอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลก) ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนการห้ามขาย คำนึงถึงผลกระทบต่อคนที่ไม่สูบบุหรี่ในระดับประชากร โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ที่จะเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและเกิดการเสพติดขึ้น รวมทั้งคนที่เลิกสูบบุหรี่ไปแล้ว กลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะคิดว่าปลอดภัย
"การตัดสินใจเชิงนโยบายต่อการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า จึงขึ้นกับเป้าหมายการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ว่าจะให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยการห้ามขายหรือจะให้ความสำคัญกับการให้ทางเลือกในคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว ด้วยการยกเลิกการห้ามขาย ความพร้อมในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า และความพร้อมในการป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน ซึ่งวงการแพทย์และเครือข่ายสุขภาพไทยที่ยึดหลัก "ปลอดภัยไว้ก่อน" มีความเห็นว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพราะเด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงที่จะเกิดการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าไปตลอดชีวิต สำหรับคนสูบบุหรี่ที่ต้องการจะเลิกสูบ สามารถจะเข้ารับการช่วยให้เลิก จากบริการรักษาการเลิกสูบบุหรี่ ที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศ" ศ.นพ.ประกิต กล่าว