สภาองค์กรของผู้บริโภค จี้ ธนาคารคืนเงินทันที - เพิ่มมาตรการยืนยันตัวตน พร้อมรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมให้ผู้บริโภค หลังผู้บริโภคหลายรายถูกหักเงินจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ
จากกรณีที่มีผู้บริโภคจำนวนมากถูกหักเงินหรือถูกเรียกเก็บเงินจากบัญชีธนาคาร เนื่องจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตถูกลักลอบใช้โดยไม่ทราบสาเหตุในช่วงที่ผ่านมา หลังจากนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทยได้ออกมาชี้แจงและปฏิเสธเมื่อ 17 ตุลาคม 2564 ว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติและจะเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารนั้น
วันนี้ (18 ต.ค.) โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า บริการบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ถือเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาโดยคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่า ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ออกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตให้กับผู้บริโภคไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินจากบัญชีธนาคารของผู้บริโภค หรือกรณีที่ผู้บริโภคถูกหักเงินจากบัญชีธนาคาร จะต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที รวมทั้งกรณีที่ผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือแจ้งว่าบริการที่ถูกหักเงินไปเกิดจากการลักลอบใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ทั้งในออนไลน์หรือออฟไลน์อีกด้วย
“ธนาคารไม่ควรอ้างเหตุผลการตรวจสอบโดยประวิงเวลาในการคืนเงินให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหักเงินจากบัญชี และต้องรับผิดชอบคืนเงินผู้บริโภคเต็มจำนวนทันทีตามสัญญาฝากทรัพย์ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของธนาคารในการดูแลรักษาเงินในฐานะผู้มีวิชาชีพฝากเงิน นอกจากธนาคารจะพิสูจน์ได้ว่าภาระหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำของผู้บริโภคเองและใช้สิทธิเรียกคืนจากผู้บริโภคในภายหลังได้” โสภณ กล่าว
โสภณ กล่าวอีกว่า โดยปกติการทำธุรกรรมทางการเงินจะต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้ง แต่ปัจจุบันธุรกรรมที่เกิดจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จำนวนมากไม่มีการแจ้งยืนยันตัวตนก่อนการสั่งจ่าย จึงอาจเป็นช่องว่างให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นได้ จึงต้องการให้ ธปท. และสมาคมธนาคารฯ เพิ่มมาตรการยืนยันตัวตนในการโอนเงินทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนกรณีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการที่เงินหายไปจากบัญชีจนหมดนั้นอาจจะกระทบกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค จนสร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภค ธนาคารผู้รับฝากเงินของผู้เสียหายควรต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการแสดงความรับผิดชอบของธนาคารผู้รับฝากเงินเอง
ทั้งนี้ สอบ. มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่ใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตแทนเงินสด ให้หมั่นตรวจสอบรายการเรียกเก็บเงินในใบแจ้งหนี้หรือบัญชีธนาคารว่ามีรายการธุรกรรมที่ผู้บริโภคไม่ได้เป็นผู้ใช้หรือไม่ หากมีการเรียกเก็บเงินในรายการที่แปลกไปให้ผู้บริโภคดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. รีบแจ้งอายัดบัตรเครดิตทันทีกับคอลเซนเตอร์ของธนาคารเมื่อรู้ตัวว่าบัตรหายหรือถูกขโมยใช้
2. ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าบัตรเครดิตหายหรือถูกขโมยใช้ โดยมีรายการธุรกรรมที่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้ตามที่ตรวจสอบได้ หากต้องการดำเนินคดีกับมิจฉาฉีพก็ให้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับมิจฉาชีพโดยให้ตำรวจสืบหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
3. ทำหนังสือปฏิเสธรายการเรียกเก็บเงินที่ผู้บริโภคไม่ได้ใช้ และแนบสำเนาใบลงบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจ พร้อมใส่ข้อเรียกร้องให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินยุติการเรียกเก็บเงินหรือคืนเงิน (กรณีที่ถูกหักเงินไปแล้ว) ตามรายการที่ทักท้วงโดยทันที ส่งไปยังธนาคารหรือสถาบันการเงินเจ้าของบัตร ณ สำนักงานใหญ่ โดยส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถึง ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ตำแหน่งอื่นๆ ที่เทียบเท่า
4. เก็บเอกสารทั้งหมดไว้เป็นหลักฐาน ได้แก่ สำเนาหนังสือปฏิเสธรายการใช้บัตรเครดิต หรือ หนังสือทักท้วงการใช้บัตรเครดิต, สำเนาภาพถ่ายบัตรเครดิตใบที่เกิดปัญหา (ถ้ามี), ใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตหรือรายการบัญชีธนาคารหน้าที่มีปัญหา, ใบไปรษณีย์ตอบรับ, เอกสารที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม หากธนาคารหรือสถาบันการเงินไม่คืนเงินหรือไม่ตอบสนองต่อการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคสามารถแจ้งเรื่องมาได้ที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่พร้อมจะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคเข้าดำเนินการตามกฎหมายกับธนาคารโดยทันที