Skip to main content

สถาบันเทคโนโลยีอิสราเอลหรือเทคเนียน (Technion) เปิดเผยว่านักวิทยาศาสตร์อิสราเอลได้พัฒนาสเต็กริบอายด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ โดยไม่ต้องใช้เนื้อที่ได้จากการฆ่าสัตว์

เทคเนียนและเอเล็ป ฟาร์มส (Aleph Farms) บริษัทผู้ผลิตเนื้อเทียมจากการสังเคราะห์สัญชาติอิสราเอล ซึ่งร่วมกันพัฒนาเนื้อสเต็กริบอายนี้ ระบุว่าสเต็กจากการพิมพ์ 3 มิติ มีหน้าตา รสชาติ และกลิ่นเหมือนกับเนื้อสเต็กจากสัตว์ที่ทั้งฉ่ำและรสดี

สเต็กจากการพิมพ์ 3 มิติ มีกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อไขมันเหมือนกับเนื้อสัตว์ทั่วไป และมีระบบที่สามารถจำลองหลอดเลือดในเนื้อเยื่อขึ้นมา ซึ่งช่วยให้สามารถผลิตเนื้อสเต็กได้ทุกขนาด

ในกระบวนการพิมพ์ชีวภาพ 3 มิติ นักวิทยาศาสตร์จะเพาะเลี้ยงเซลล์ธรรมชาติที่ได้จากสัตว์ ไว้ในสารตั้งต้นเฉพาะ โดยสารตั้งต้นนี้จะห่อหุ้มเซลล์ในลักษณะที่ไปกระตุ้นให้เซลล์สร้างโครงสร้างของเนื้อเยื่อทั้งหมดขึ้นมา

หลังจากนั้นปฏิกิริยาระหว่างเซลล์ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้สภาวะควบคุม จะนำไปสู่การสร้างเนื้อเยื่อของเนื้อสเต็กที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน

ระบบพื้นที่ว่างที่สร้างหลอดเลือดจำลองขึ้นในเนื้อเยื่อ ไม่เพียงแต่ช่วยให้เกิดการดูดซึมสารอาหารในเนื้อเยื่อ แต่ยังก่อให้เกิดรูปร่างและโครงสร้างของเนื้อสเต็กทั่วไปอีกด้วย