Skip to main content

นพ.ชลน่าน ขอทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ คุ้มครองทั้งบุคลากรทางด้านสาธารณสุขและประชาชนผู้รับบริการ หวั่นมีลักไก่นิรโทษกรรมให้ฝ่ายบริหาร-การเมือง

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.ก แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ โรคติดต่อ 2558 พ.ศ. …. ว่า จากการพิจารณาพบว่าสาระสำคัญแยกบริหารสถานการณ์โรคติดต่อกรณีปกติและกรณีที่มีความรุนแรง โดยรัฐบาลนำบทบัญญัติบางประการจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 มาบัญญัติไว้ ซึ่งการประกาศและการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโดยนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จัดตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่คล้ายศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. กำหนดมาตรการต่างๆ ในการป้องกัน ระงับ ควบคุมหรือขจัดโรคติดต่อ ให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องทางปกครองและไม่ต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

นพ.ชลน่าน ตั้งคำถามว่า รัฐไม่ต้องชดเชยความเสียหาย คุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนทุกระดับหรือไม่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายการเมือง ที่ออกนโยบายผิดพลาด เป็นผลการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันหรือควบคุมโรค ทำให้เกิดความเสียหาย ได้รับการคุ้มครองหรือไม่  มีเจตนาที่จะนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายการเมืองใช่หรือไม่ เพราะการเขียนกฎหมายเช่นนี้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด การให้บริการในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข มีความไม่พร้อมหลาย ๆ ด้านอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้

"โดยหลักของสิทธิในชีวิตและร่างกาย ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง ความเสียหายที่เกิดขึ้น จากรัฐทั้ง ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ  ผู้ให้บริการที่ทำหน้าที่โดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่เลือกปฏิบัติ ต้องได้รับความคุ้มครองไม่มีความผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย ก่อนที่จะนำทูลเกล้าฯ หวังว่าผู้เกี่ยวข้องควรทบทวนในประเด็นเหล่านี้" นพ.ชลน่าน กล่าว