Skip to main content

นับตั้งแต่การสลายชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เป็นต้นมา มีสื่อมวลชนเสียชีวิตจากการรายงานข่าวความขัดแย้งทางการเมืองใจกลางกรุงเทพฯ และช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีสื่อพลเมืองและสื่อมวลชนวิชาชีพหลายรายได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีสาเหตุจากทั้งการใช้กำลังอาวุธของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและถูกลูกหลงจากกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ใช้ความรุนแรง

ล่าสุด ผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊ก 2 รายที่รายงานการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเมื่อ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่องค์กรวิชาชีพสื่อหลักทั้ง 6 แห่งของไทยกลับออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า “ไม่มีสื่อหลัก” ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว เพราะไม่นับว่าผู้รายงานข่าวภาคสนามของสื่อออนไลน์ที่เกิดใหม่ต่างๆ เป็นสื่อที่ต้องได้รับการคุ้มครอง

‘ดิ โอเพนเนอร์’ คุยกับ ‘ณรรธราวุธ เมืองสุข’ หรือ ‘กัณฐ์’ นักข่าวอิสระ ในฐานะตัวแทน สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ DemAll ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้เสียงของนักข่าวอิสระหรือสื่อพลเมืองที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมต่างๆ ซึ่งกระจายตัวอยู่ในหลายแวดวง นอกเหนือไปจากองค์กรสื่อกระแสหลักดั้งเดิมที่อยู่ในสังคมไทยมายาวนาน

“เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน อันนี้น่ะ สำคัญมากเลย มันเป็นหลักใหญ่ใจความ เป็นกระดูกสันหลังของคนทำสื่อเลย - แต่ทำไมพอถึงจุดหนึ่งเราบอกว่า สื่อหรือคนบางกลุ่มมีเสรีภาพมากเกินไป เรามาสำลักเสรีภาพซะแล้ว เราหวาดกลัวเสรีภาพกัน แล้วก็พยายามที่จะปิดกั้นการนำเสนอของสื่อ มีสื่อจำนวนมากที่ถูกปิดปากปิดหู ไม่ให้นำเสนอ ค่อนข้างเยอะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา”

“ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร มาจากความไม่เข้าใจกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือปัญหาเกิดจากการที่อีกฝ่ายเขายึดมั่นในอุดมการณ์ชุดหนึ่ง อีกฝ่ายก็ยึดมั่นในอุดมการณ์อีกชุดหนึ่ง แต่มันไม่มีพื้นที่กลางในการคุยกัน เพราะรัฐเองก็ไม่ได้สนับสนุน ฝ่ายรัฐปัจจุบันไม่ได้สร้างวัฒนธรรมการถกเถียงพูดคุย มีแต่วัฒนธรรมที่พูดอยู่ฝ่ายเดียว สื่อสารทางเดียว แล้วประชาชนต้องปฏิบัติตาม สิ่งเหล่านี้มันทำให้สังคมมันกลายเป็นสังคมของการปะทะกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกหรือการพูดจาที่มันขัดแย้งกัน มันปะทะกันอย่างเดียวเลย”

Facebook: Nattharavut Kunishe Muangsuk

การอธิบายปรากฏการณ์ ‘หายไป’ จากสื่อกระแสหลัก

ณรรธราวุธไม่ใช่หน้าใหม่ในแวดวงสื่อมวลชน เพราะเคยมีประสบการณ์ในฐานะอดีตนักข่าวภาคสนามซึ่งถูกส่วนกลางส่งไปเกาะติดสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงปี 2548-2549 หลังเกิดเหตุการณ์ ‘กรือเซะ-ตากใบ’ ได้ไม่นาน โดยเป็นการทำงานภายใต้ ‘ศูนย์ข่าวอิศรา’ ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนหลักๆ ในไทยยุคนั้น เพื่อถ่วงดุลข้อมูลข่าวสารและทำความเข้าใจเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่แปะฉลากให้คนในพื้นที่เป็นเพียงแค่ ‘โจรใต้’ หรือ ‘แนวร่วม’ ตามที่ผู้นำรัฐบาลสมัยนั้นเรียกขาน

เขาสะท้อนให้ฟังว่า สมาคมสื่อวิชาชีพยุคนั้นพยายามอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความซับซ้อน เกี่ยวพันกับทั้งอคติทางเชื้อชาติ อคติทางศาสนา และอคติเกี่ยวกับอุดมการณ์ชาตินิยมที่ห่อคลุมสังคมไทยอยู่ แต่การอธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้กลับไม่เกิดขึ้นกับความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ไม่ว่าจะในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ผู้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองการปกครอง 

“เมื่อก่อนนี่สังคมไทยแทบจะไม่รู้จักว่าคนมลายูคือใคร อิสลามเขาต้องการความรุนแรงจริงหรือ? คืออคติ ความเกลียดชังเรื่องเชื้อชาติและศาสนานี่มันหนามาก หลังปี 47 ก่อนปี 49 ค่อนข้างเกิดความเคลือบแคลง น่าสงสัย ก็เลยใช้เครื่องมือตัวนี้เข้าไปนำเสนอประเด็นที่ทำให้คนเข้าใจคนในพื้นที่มากขึ้น มันก็ทำให้เราเข้าใจตัวบุคคลที่เขาต้องจับอาวุธขึ้นมาสู้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ปัญหาความขัดแย้งที่กรุงเทพฯ ทำไมมีคนจำนวนหนึ่งที่เขาสู้ไม่ถอย หรือต้องออกมาปะทะกับ คฝ. มาเสี่ยงกระสุนยางมากยิ่งขึ้น อย่างนี้เราก็ต้องอธิบาย” 

“แม้กระทั่งฝ่ายรัฐเองก็ตาม ก็ต้องลงไปดูอารมณ์ความรู้สึกของ คฝ.ว่าทำไมพวกเขาถึงมีอารมณ์ มีความรุนแรงมากขึ้น ความเครียด ความกดดัน ความกลัวเรื่องของโรคระบาด ความเกลียดชังผู้ชุมนุม เกิดจากอะไร พวกเขามาจากไหน กินอยู่ยังไง ซึ่งพวกนี้เป็นข้อมูลที่ฝ่ายรัฐเองไม่ค่อยอยากจะเปิดเผย”

“พูดไปแล้วเราก็รู้กันอยู่ว่าฝ่ายรัฐไม่ค่อยจะเปิดเผยในเรื่องของยุทธวิธี แล้วก็พยายามจะทำให้เจ้าหน้าที่เหมือนหุ่นยนต์ เวลาลงมาปฏิบัติหน้าที่ ห้ามพูดหรือว่าห้ามแสดงออก ถ้าเราย้อนกลับไปตอนปี 63 เรายังเห็นมวลชนให้น้ำกับ คฝ.นะ ยังแลกเปลี่ยนน้ำ ยังแลกเปลี่ยนอะไรต่างๆ กันอยู่ แต่ปัจจุบันมันมีความห่างแล้ว เพราะอะไร อันนี้ผมว่าสื่อก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกัน”

“เวลาสมาคมวิชาชีพออกแถลงการณ์ ก็จะเห็นว่าพยายามสั่งสอนสื่อให้ยึดมั่นหลักการทำข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง พอลงไปดูรายละเอียดก็ไม่มีอะไร ก็เป็นแค่เรื่องของในเชิงยุทธวิธีน่ะ ต้องทำตัวยังไง ณ ตอนนั้น แต่ว่ามันไม่มีเครื่องมือที่เรียกว่าการอธิบายปรากฏการณ์เข้าไป ทั้งที่การอธิบายปรากฏการณ์จะทำให้เราเข้าใจปัญหาความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น เหมือนที่เราเคยใช้กับปัญหาภาคใต้”

พลวัต ‘สื่อใหม่-สื่อภาคประชาชน’ ที่องค์กรวิชาชีพสื่อไม่คุ้มครอง

สารานุกรม Britannica นิยามคำว่าสื่อภาคประชาชน หรือสื่อพลเมือง (Citizen Journalist) ว่าหมายถึงผู้รายงานข้อมูลข่าวสารโดยใช้ช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบซึ่งไม่ได้เป็นสื่อมวลชนโดยวิชาชีพ แต่อาจเป็นผู้ประสบเหตุการณ์หรือเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมที่ต้องการสื่อสารสู่สาธารณะ ซึ่งรวมถึงผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ใช้อำนาจควบคุมหรือปิดกั้นประชาชน 

ขณะที่คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสื่อ (CPJ) ซึ่งเป็นองค์กรสื่อระหว่างประเทศ ก็ระบุว่าคนกลุ่มนี้ “จะต้องได้รับการคุ้มครอง” เช่นเดียวกับสื่อมวลชนวิชาชีพ เพราะเป็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม สื่อพลเมืองหรือสื่ออิสระในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ดูเหมือนจะยังไม่ถูกนับเป็นสื่อในสายตาขององค์กรวิชาชีพที่มีบทบาทสำคัญในระดับประเทศ ทำให้ณรรธราวุธย้ำว่า นี่คือเหตุผลที่ทำให้ก่อตั้ง DemAll ขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการผนึกกำลังของสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสียงทักท้วงหรือชี้แจงเหตุการณ์ในสังคมไทย ยังรวมถึงการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องคนทำงานภาคสนาม ‘ทุกกลุ่ม’ 

“เวลาเขาพูดถึงเรื่องการปกป้องคุ้มครองสื่อ มันก็จะเฉพาะสื่อที่อยู่ในสำนักใหญ่ๆ เราคิดว่าถ้าอย่างนี้แล้วสื่อภาคสนามที่เข้าไม่ถึงปลอกแขนของสมาคมวิชาชีพเขาทำงานกันยังไง สื่อโซเชียลที่เขามียอดติดตามเป็นหลักหมื่นหลักแสน พวกเขาเองก็ได้รับผลกระทบจากการทำงานในภาคสนามเช่นกัน เขาถือกล้องน่ะ เขาไม่ได้ไปถือปืนหรือปาประทัดยักษ์ใส่เจ้าหน้าที่ เขาก็ควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพราะว่าเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงจากภาคสนามมาถึงประชาชนเช่นเดียวกัน”

“เอาจริงๆ มันไม่ใช่เฉพาะกลุ่มขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างเดียว ทุกๆ กลุ่มมันมีคนที่ถือกล้องไปไลฟ์สดทุกการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือว่าแม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์ เขาก็มีคนที่จะทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลข้อเท็จจริงเวลาเขาต้องเรียกร้องกับรัฐ แต่ก็ไม่เคยถูกปกป้องจากองค์กรสื่อวิชาชีพ เราคิดว่าถ้าอย่างนี้เราควรจะต้องมีการทำเป็นสมาพันธ์แล้วดึงคนที่เป็นสื่อทุกๆ ส่วนเข้ามานำเสนอมุมมอง แนวคิดในการทำงาน แล้วก็ควรจะต้องมีตัวแทนที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขาเหล่านี้”

“ผมทำงานข่าวชายแดนใต้มาตั้งแต่ช่วงยุคแรกจนถึงปัจจุบัน สื่อชายแดนใต้ยังไม่มีใครโดนเจ้าหน้าที่รัฐยิงตายเลยนะ แล้วจำนวนคนที่บาดเจ็บก็มีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเกิดจากระเบิดแสวงเครื่องที่สื่อติดตามเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ แล้วขบวนการเองก็ไม่มีที่จะติดตามทำร้ายสื่อ อ้าว! ปัญหาภาคใต้นี่มันใช้อาวุธจริงกันเลยนะ แต่ทำไมมันสามารถปกป้องคนทำงานได้ล่ะ แต่ว่าในพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมือง ทำไมมีสื่อเสียชีวิต อันนี้คุณต้องตั้งคำถามกับรัฐน่ะว่าทำไมถึงมีสื่อเสียชีวิตและสื่อยังบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อยู่เรื่อยๆ”

“เราก็คิดว่าถ้าอย่างนี้เราคงต้องมีสมาพันธ์กันละ ที่จะมาเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนที่ทำงานภาคสนามทุกๆ กลุ่ม เราก็เลยขยายนิยามของคำว่าสื่อค่อนข้างกว้างมาก แต่ว่าหลักของเราสำคัญเลยคือสนับสนุน ส่งเสริม ระบอบประชาธิปไตย แล้วก็สิทธิความเสมอภาคตามหลักอารยะสากล นั่นหมายถึงว่าทุกคนที่เป็นสื่อในภาคประชาชน”

เสรีภาพบนความรับผิดชอบของใคร? 

ณรรธราวุธเท้าความถึงช่วงหนึ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อในประเทศไทยรณรงค์ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน” แต่หลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา กลับมุ่งเน้นประเด็น “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” แทนประโยคดั้งเดิม เหมือนจะบ่งชี้ว่าสื่อมวลชนถูกมองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายของคนในสังคมไทย 

“เสรีภาพบนความรับผิดชอบเกิดขึ้นภายหลังจากที่เกิดการชุมนุมประท้วง แล้วก็มีการไปกดดันสื่อหลายๆ แห่ง ให้รายงานอย่างที่ผู้ชุมนุมบางกลุ่มพยายามที่จะปฏิรูปประเทศนะครับ - ถามว่าผมเห็นด้วยไหม ตรงนี้มันพูดกันตรงๆ ก็คือไม่ผิดหรอกครับ แต่ว่ามันควรจะกลายมาเป็นม็อตโตที่สมาคมวิชาชีพควรจะเอามาชูเป็นหลักหรือเปล่า อันนี้ก็ต้องถามใจกันน่ะว่าคุณเองมีอคติการเมืองแบบไหน เสรีภาพบนความรับผิดชอบนี่ใครรับผิดชอบ? ต้นสังกัดรับผิดชอบ นักข่าวรับผิดชอบ รับผิดชอบต่ออะไร รับผิดชอบโดยใคร คำถามพวกนี้มันมี และผมคิดว่ามันตอบกันไม่หมดหรอกครับ” 

“สุดท้ายแล้ว สื่อทุกสื่อเขามีความรับผิดชอบอยู่แล้ว นึกออกไหม ยิ่งปัจจุบันมันเป็นยุคที่ตรวจสอบง่าย ใครนำเสนอข่าวผิดพลาด ได้รับการตอบโต้กลับทันที คุณเตรียมลานจอดรถทัวร์ได้เลย เพราะว่าสังคมไม่ยอมรับกับข้อมูลที่มันผิดอยู่แล้ว มีการฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งพวกนี้ทำให้ผมคิดว่ามันจำเป็นที่จะต้องนำมาเป็นม็อตโตสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ”

“เพราะฉะนั้นผมก็เลยเกิดความรู้สึกลึกๆ ว่าไอ้ความรับผิดชอบที่ว่ามันมาพร้อมกับอคติทางการเมือง เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นข่าวทั่วๆ ไป...เป็นข่าวอาชญากรรม เป็นข่าวลุงพลป้าแต๋น อันนี้เราพูดถึงความรับผิดชอบได้เต็มปากแหละว่า โอเค เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม มันจะมีประโยชน์อะไรล่ะ แต่ถามว่า แล้วมีสื่อที่นำเสนอเรื่องนี้อย่างเอาเป็นเอาตาย สมาคมวิชาชีพสื่อทำอะไรได้บ้าง ก็ไม่ได้ทำอะไร ใช่ไหมฮะ แต่พอเป็นเรื่องทางการเมือง ก็จะเอาเรื่องของความรับผิดชอบขึ้นมาชูทันที แล้วก็มีการแสดงออกนู่นนี่ คือในแวดวงสื่อเราก็เห็นกันอยู่ว่าม็อตโตพวกนี้มีวาระซ่อนเร้น มีเอเจนดาอยู่”

“จริงๆ แล้ว สิ่งที่เราควรจะต้องติดอาวุธให้กับประชาชนก็คือวิจารณญาณ ทักษะในการเช็กข้อมูล ถูกไหมฮะ พวกนี้มันคือสิ่งที่เราจะต้องทำให้สังคมได้เรียนรู้ว่า โลกยุคใหม่ โลกของยุคเทคโนโลยี ประชาชนควรจะมีทักษะอะไรบ้างในการที่จะใช้โซเชียลมีเดีย แล้วคุณจะไม่กลัวอะไรเลย”

“แต่ปัญหาคือเราไม่เคยติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนรู้ทันข่าวปลอม...ทุกวันนี้ก็เลยมีประชาชนที่ออกมาพูดถึงเรื่องของข้อเท็จจริงที่ไม่มีพื้นที่ให้พิสูจน์ ผมยกตัวอย่างเช่น ข่าวที่มันจะมีเอเจนดาทางการเมืองอยู่ มีข่าวซุบซิบอยู่ แต่มันมีพื้นที่ของการให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงมั้ย ถ้าไม่มีพื้นที่ให้พิสูจน์ข้อเท็จจริง มันจะทำให้เกิดความกลัวหรือเปล่า ผมว่าอันนี้มันควรที่จะต้องคิดกัน”

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ DemAll (Democracy Alliance) แถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2564 โดยมีสมาชิกก่อตั้งจากผู้ผลิตสื่อประเภทต่างๆ ทั้งสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ สารคดี รวมถึงสื่อรูปแบบอื่นๆ และพยายามผลักดันให้มีการผลิตปลอกแขนสำหรับสื่อออนไลน์ สื่อภาคประชาชน หรือสื่ออิสระ ที่ไม่ได้สังกัดองค์กรใดๆ เพื่อระบุตัวตนขณะที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมต่างๆ 

นอกจากนี้ DemAll ยังร่วมกับเครือข่ายสื่อและภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นเรื่องต่อศาลแพ่ง ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ให้ถอนคำสั่งตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ที่ให้อำนาจ กสทช.ดำเนินการตัดอินเทอร์เน็ตและปิดกั้นสื่อต่างๆ ที่นำเสนอข้อมูลที่เข้าข่ายสร้างความตื่นตระหนกหรือกระทบต่อความมั่นคง รวมถึงขอความคุ้มครองฉุกเฉินด้านสวัสดิภาพและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ให้ได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ