Skip to main content

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ ระบุถึงการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนนจากหลายๆ สำนักว่า สถานการณ์การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนจะเพิ่มขึ้น เพราะคนไทยเริ่มได้ผลจากการผ่อนคลายมาตรการคลายล็อกช่วงโรคระบาดโควิด ผู้คนจะเริ่มออกมา กิน-ดื่ม-เที่ยว จำนวนการสัญจรบนถนนจะเพิ่มขึ้น ยิ่งเข้ามาในช่วงออกพรรษา จะมีลอยกระทง มีงานบุญ งานตรุษ งานสารท แล้วเข้าช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นไฮซีซั่น คนอั้นมานาน อยากออกเต็มที่ อุบัติเหตุจะชุก คนบาดเจ็บตายจะเพิ่มมากกว่าเดิม หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านป้องกันอุบัติเหตุจะลดลง สถานการณ์จะแย่กว่าเดิม เพราะบุคลากรของหน่วยงานที่ทำงานด้านป้องกันโดนไปทำเรื่องโควิดจนไม่ได้ทำงานป้องกัน 

สถาานการณ์โรงพยาบาลทั้งประเทศ ตอนนี้เตียงยังตึงอยู่ หลายแห่งเจ้าหน้าที่ต้องกักตัว ไม่มีเจ้าหน้าที่ทำงาน คนเจ็บจากอุบัติเหตุ 2 พันคน ต้องใช้เตียงอย่างน้อย 800 เตียง รับคนเจ็บหนัก ถ้าพื้นที่ทำได้คือ ลดคนเจ็บ ได้เตียงให้โควิดเพิ่ม ฉะนั้น จึงต้องมีการฝากแกนนำในพื้นที่ลุกขึ้นมาทำงานเชิงป้องกันอุบัติเหตุบนถนน ลดการติดเชื้อกับป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เท่ากับช่วยชาติ ไม่ใช่ปล่อยให้ทั้งสองอย่างเกิดขึ้นเป็นการเพิ่มภาระให้กับชาติ

"ที่น่าคิดคือ หลังจากคลายล็อกมาตรการแล้ว อุบัติเหตุทางถนนกับการติดเชื้อโควิดจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เกรงว่าจะต้องรับมือสองด้าน พอคลายล็อกการเดินทางจะเพิ่มขึ้น โดยเชื่อว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้จะเพิ่มเป็นวันละ 40-50 คน การเดินทางจะกลับมาเต็มที่ เราจะต้องเตรียมรับมือสองเด้ง  การเสียชีวิตของเดือนสิงหาคมปีก่อนจะคล้ายกับปีนี้ คือ ลดลง ไม่ถึงสิบคนทั้งประเทศ สวนทางกับการระบาดของโควิดทำให้การเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย" นพ.วิทยา กล่าว  
  
นพ.วิทยา กล่าวว่า ไทยเรามีอันดับที่น่าตกใจมากจากรายงานจาก  status report ปี 2559  สถิติเสียชีวิตสูง แม้จะน้อยลงมาถึงปี 2563 แต่ไทยยังคงเป็นเบอร์หนึ่งของเอเชีย ที่หนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน แล้วยังตายเพราะมอเตอร์ไซด์สูงสุดในโลก ไทยไม่บรรลุเป้าหมาย SDG เรื่อง ตายเพราะอุบัติเหตุเหลืออีก 95% เราเป็นรองบ๊วยเรื่องการจัดการอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งที่เรามีความเสี่ยงสูงมากๆ ปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุ (proximal determinant) หนักหนาสาหัสมากว่าปัจจัยลดอุบัติเหตุ (distal determinant) นั่นคือ การจัดการลดอุบัติเหตุอ่อนแอมาก ทำให้เราไม่สามารถงัดปัญหาขึ้นมาแก้ไขได้ มาตรการอ่อนเกินไป เราต้องเพิ่มการจัดการให้สูงขึ้นเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ  องค์การอนามัยโลกบอกเราสอบตกเรื่องการจัดการกับเรื่องพฤติกรรมเสี่ยง เราผ่านเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือทางการแพทย์หลังเกิดเหตุ (post crash)

"เรามีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนมาตั้งแต่ปี 2556 แต่จัดการเฉพาะช่วงเทศกาล ขณะที่ทุกเดือนคนตายมากกว่าเทศกาล เดือนต่ำสุดเข้าพรรษาการเกิดเหตุสูงกว่า 1ล้านครั้งของการเกิดเหตุ 25% ต้องรับเข้ารักษาตัว ปัญหาคือ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยังกล่าวไว้ว่า เรามีกฎหมายดี แต่บังคับใช้ไม่ดี เรามีกฎหมายหมวกกันน็อกมาตั้งแต่ปี 2522 แต่คนไทยขี่ซ้อน เฉลี่ย 45% สวมหมวกกันน็อก ถ้าคนไทยใส่หมวกกันน็อกทุกคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์จะลดการตายได้ถึง 5 พันคน" นพ.วิทยา กล่าว 
 
"ประเทศไทยกำลังทำแผนแม่บทด้านความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 ต้องลดให้การเสียชีวิตเหลือ 12 ต่อแสนประชากร ภายในปี 2570 เท่ากับลดลงครึ่งหนึ่งซึ่งยากมาก เว้นปีนี้ได้โควิดช่วยทำจำนวนคนเสียชีวิตลดลง แต่ปีหน้ายังไม่แน่ ถ้าเรายังประชุมกันแค่ปีละ 2 ครั้งเทศกาล วันธรรมดาไม่ทำอะไร ไม่มีทางจะได้เป้า 12 ต่อแสนประชากร ในปี 2570 ไม่มีทางเป็นไปได้ เราต้องเชื่อว่าทุกเหตุป้องกันได้ เราจะได้มีความพยายามแก้ไขความเชื่อเดิมว่าเป็นความผิดพลาดของคนอย่างเดียว ซึ่งไม่ใช่แต่ความผิดพลาดเป็นของผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประชาชนคนธรรรมดาสามารถทำได้" นพ.วิทยา กล่าว 

นพ.วิทยา กล่าวว่า ชัดว่ารถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุหลักการสูญเสียชีวิตบนถนน การที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ติดอาวุธทางความคิดพัฒนาคนและศักยภาพเครือข่ายระดับอำเภอและตำบลผ่านการอบรมแบบออนไลน์ด้วยระบบซูม ด้วยการติดตั้งหลักคิดและแนวทางในการพัฒนาข้อเสนอโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงเจ็บ-ตายเพราะมอเตอร์ไซด์ แต่ไปเพิ่มอัตราการสวมหมวกนิรภัย นำไปสู่นโยบายขับขี่ปลอดภัยมาแก้ไขในอำเภอเสี่ยง โดยจะจัดอบรมตลอดเดือนกันยายน 2564