Skip to main content

คณะกรรมการความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของไต้หวันเสนอแผนรื้อถอนรูปปั้นอดีตประธานาธิบดี 'เจียงไคเช็ก' ที่ตั้งอยู่ในอนุสรณ์สถานเจียงไคเช็กกลางกรุงไทเป โดยให้เหตุผลว่านี่จะเป็นการปฏิเสธความชอบธรรมของระบอบอำนาจนิยม และแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย

รูปปั้นทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ 6.3 เมตรของนายพลเจียงไคเช็กเป็นประเด็นถกเถียงมาอย่างยาวนานในไต้หวัน ซึ่งได้เปลี่ยนจากสังคมที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย รูปปั้นนี้อยู่ในจตุรัสใหญ่ซึ่งเป็นที่ตั้งอนุสรณ์สถานเจียงไคเช็กในกรุงไทเป ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับอดีตประธานาธิบดีเจียงไคเช็กและกลายเป็นอีกแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวในไทเป

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (8 ก.ย.) คณะกรรมการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านของไต้หวันได้ระบุว่า รูปปั้นนี้เป็นสัญลักษณ์ที่ใหญ่ที่สุดของระบอบอำนาจนิยมในไต้หวัน พร้อมเสนอว่าควรรื้อถอนรูปปั้นดังกล่าวและปรับเปลี่ยนจตุรัสนี้ให้กลายเป็นสวนที่ “สะท้อนประวัติศาสตร์อำนาจนิยม” โดยเปลี่ยนลักษณะและรูปแบบการใช้งานพื้นที่ คณะกรรมการระบุว่าการรื้อถอนรูปปั้นจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธความชอบธรรมของการปกครองปกครองแบบอำนาจนิยมและรำลึกถึงบทเรียนประวัติศาสตร์

เจียงไคเช็กและกองกำลังชาตินิยมก๊กมินตั๋งของเขาลี้ภัยจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังเกาะไต้หวันเมื่อปี 2492 หลังพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ภายใต้การปกครองของเจียงไคเช็กมีผู้เห็นต่างจำนวนมากที่ถูกคุมขังหรือสังหาร สมาชิกครอบครัวของเหยื่อในการสังหารหมู่ใน 'เหตุการณ์ 228' ที่กองกำลังชาตินิยมของเจียงปราบปรามพลเรือนในไต้หวันที่ลุกขึ้นต่อต้านเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2490 ได้เรียกร้องมาอย่างยาวนานให้รื้อรูปปั้นขนาดยักษ์ของเจียงไคเช็กในอนุสรณ์สถานดังกล่าวออกไป ขณะที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากในไต้หวันมองว่าเจียงไคเช็กก็ไม่ต่างจากรัฐบาลจีนในปักกิ่งที่มองไต้หวันเป็นดินแดนของตัวเองและตั้งใจจะยึดครองดินแดนนี้ในวันหนึ่งข้างหน้า ส่วนก่อนหน้านี้รูปปั้นของเจียงไคเช็กหลายร้อยชิ้นได้ถูกย้ายไปยังสวนริมทะเลสาบใกล้กับสุสานของเขาในเมืองเถาหยวนทางตอนเหนือของไต้หวันแล้ว

ทั้งนี้ คณะกรรมการความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านของไต้หวันก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 3 ปีที่แล้วโดยพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของประธานาธิบดี 'ไช่อิงเหวิน' เพื่อสอบสวนการใช้อำนาจโดยมิชอบและแก้ไขความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของพรรคก๊กมินตั๋งระหว่างปี 2488-2535 โดยข้อเสนอของคณะกรรมการที่ให้รื้อถอนรูปปั้นเจียงไคเช็กเป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่จะส่งให้คณะรัฐมนตรีไต้หวันอนุมัติในปีหน้า ท่ามกลางความเห็นต่างทางการเมืองที่ยังมีอยู่ต่อประเด็นดังกล่าว