นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์เบตา ยังจำกัดวงอยู่ภาคใต้ ที่เคยพบในกรุงเทพมหานคร และ จ.บึงกาฬ จบไปแล้ว ไม่พบจังหวัดอื่นๆ โดยสัปดาห์ล่าสุด พบในเขตสุขภาพที่ 12 คือ นราธิวาส 28 ราย ปัตตานี 2 ราย และยะลา 1 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตรวจไปแล้วเกือบ 13 ล้านตัวอย่าง ด้วยวิธีมาตรฐานอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) ซึ่งมีส่วนที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบจำนวนหนึ่ง ในช่วงที่ชุลมุนมากๆ บางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) อาจไม่ได้รายงานข้อมูลครบถ้วน จึงเข้าใจว่าอาจถึง 15 ล้านตัวอย่างแล้ว นับเป็นตัวเลขไม่น้อย ยิ่งช่วงหลังระบาดมากก็ตรวจมากขึ้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในระดับโลกมีการจัดชั้นของการกลายพันธุ์ ซึ่งการกลายพันธุ์เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยการกลายพันธุ์ขณะนี้มีเป็นร้อย เป็นหางว่าว แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการจัดชั้น เริ่มต้นเรียกว่า เป็นการกลายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ เช่น อาจกลายพันธุ์ที่อาจแพร่ได้ หรือดื้อต่อวัคซีนได้ หรือมีความผิดปกติมากขึ้น ก็จะจัดชั้นเป็น Variants of Concern(VOI) ก่อน ส่วนชั้นที่น่าห่วงและกังวล Variant of Concern (VOC) ขณะนี้มีอยู่ 4 ตัว คือ อัลฟา เดลตา เบตา และแกรมมา
"แกรมม่า เป็นบราซิลเดิม แต่ไม่พบในไทย เคยพบในสถานกักกันโรค (State Quarantine) แต่ควบคุมได้ และไม่หลุดออกไป ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีอัลฟา เดลตา และเบตา โดยลักษณะแตกต่างกัน ส่วนสายพันธุ์มิว (Mu) ยังถูกจัดชั้นว่า น่าสนใจ แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์น่ากังวล รวมไปถึงสายพันธุ์ C.1.2 ก็ยังไม่ได้ถูกจัดชั้นอะไรทั้งหมด และยังไม่ได้ถูกจัดชื่ออะไร สำหรับสายพันธุ์ C.1.2 ที่มาก่อนหน้านั้น โดยนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบว่า มีการกลายพันธุ์ในจุดตำแหน่งที่เคยอยู่ในเบตา แกรมมา เช่น E484K ซึ่งพวกนี้หลบภูมิคุ้มกัน หรือพูดง่ายๆ ดื้อวัคซีน โดยมีทั้งส่วน N501Y ของอัลฟาเดิมที่แพร่เร็ว เป็นต้น ดังนั้น การกลายพันธุ์ในหลายๆ ตำแหน่งของเขา ทำให้ C.1.2 ต้องจับตาดู แต่ขณะนี้ยังค่อนข้างจำกัด โดยทั้งโลกพบมากในแอฟริกาใต้ โดยแอฟริกาใต้พบ 117 ราย คิดเป็นร้อยละ 85 ของที่เจอทั้งหมด แต่ไม่ได้แปลว่าแอฟริกาใต้มีทั้งร้อยละ 85 แต่อาจมีอยู่นิดหน่อย อาจมีสายพันธุ์อื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งสายพันธุ์นี้มีอัตราการกลายพันธุ์สูงกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ยังไม่ต้องกังวล เราพบเจอร้อยละ 3 เท่านั้น สายพันธุ์ส่วนใหญ่ยังเป็นเดลต้า ที่สำคัญประเทศไทยมีการเฝ้าระวังมาตลอด ปัจจุบันยังไม่เจอสายพันธุ์นี้ในประเทศ" นพ.ศุภกิจกล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สายพันธุ์มิว Mu (B.1.621) ทั่วโลก ยังพบน้อยมาก ร้อยละ 0.1 โดยในสหรัฐอเมริกา 2,400 ตัวอย่าง โคลอมเบีย 965 ตัวอย่าง เม็กซิโก 367 ตัวอย่าง สเปน 512 ตัวอย่าง เอกวาดอร์ 170 ตัวอย่าง มีญี่ปุ่นเล็กน้อย แต่ยังไม่ได้พบในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโคลอมเบียเป็นที่แรก ซึ่งเจอสายพันธุ์มิว ประมาณร้อยละ 40
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบแล้วใน 39 ประเทศ องค์การอนามัยโลกจัดอันดับเป็น VOI ขอย้ำว่าสายพันธุ์มิวยังต้องติดตามต่อไป เพราะมีการกลายพันธุ์ที่พบว่าหลีกหนีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ดีกว่าเดิม เนื่องจากพบการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้ Antigenic change ได้แก่ E484K แต่ยังไม่มีรายงานเรื่องอื่น ส่วนที่ว่าแพร่เร็วหรือไม่ ข้อมูลยังไม่ได้ยืนยันขนาดนั้นเมื่อเทียบกับเดลต้า ส่วนติดเชื้อง่ายหรือไม่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ขณะที่หลบภูมิต้านทานก็อาจมีปัญหา แต่วันนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าคนที่ป่วยแล้วกลับมาป่วยอีกมากน้อยแค่ไหน โดยรวมจึงยังไม่น่าวิตก แต่เรายังติดตามต่อเนื่อง
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับประเทศไทย เฝ้าระวังสายพันธุ์สัปดาห์ละ 1 พันกว่าราย รวมการตรวจอาร์ที-พีซีอาร์ และตรวจจีโนมทั้งตัว เดิมเคยกำหนดว่ากลุ่มที่มาจากต่างประเทศ อยู่ชายแดน บุคลากรทางการแพทย์ คนอาการหนักได้มีการตรวจกลุ่มนี้มากขึ้น และกระจายพื้นที่มากๆ หรือมีคลัสเตอร์แปลกๆ โผล่ขึ้นมา ซึ่งการสุ่มตรวจแบบนั้นเป็นลักษณะหาของใหม่ที่จะหลุดเข้ามา แต่อาจไม่ได้บอกเป็นตัวแทนการติดเชื้อในไทย จึงจะขอปรับกลุ่มเป้าหมาย และจะตรวจให้มากขึ้น ซึ่งรายละเอียดจะพิจารณาว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นความชุกของไทย จากอดีตตรวจกรุงเทพฯมาก ตรวจต่างจังหวัดน้อยกว่า อาจไม่เหมาะในการบอกภาพรวม จึงต้องปรับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเข้ามาใหม่ต้องดักให้เจอ และข้อมูลของเราต้องเป็นตัวแทนภาพรวมของประเทศได้
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้จะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) โดยจากนี้ไปถึงเดือนธันวาคม 2564 จะตรวจให้ได้ 1 หมื่นตัวอย่าง โดยจะมีน้ำยาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แต่ละพื้นที่ไปตรวจ
"อย่างวันนี้ ก็จะให้ทาง จ.ภูเก็ต ตรวจเพิ่มขึ้น และให้รู้ว่าที่ภูเก็ตเองมีเดลต้ากี่เปอร์เซ็นต์ โดยการตรวจพันธุกรรมทั้งตัว มีที่กรมวิทยาศาสตร์ฯ และเครือข่ายของเรา ทั้ง มอ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.รามาธิบดี โดยกรมวิทยาศาสตร์ฯตรวจประมาณ 9,000 ตัวอย่าง เครือข่ายอีก 4,000 ตัวอย่าง จากนั้นจะมีการประสานกับศูนย์ข้อมูลระดับโลก จีเสส (GISAID) โดยจะรายงานทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งการรายงานบ่อยๆ อาจเจอสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยก็ได้ ดังนั้น อย่าตกใจ สำหรับสายพันธุ์ที่เราเคยแถลงก่อนหน้านี้ คือ AY ของเดลต้านั้น มี AY 12 เพิ่มเล็กน้อย แต่จีเสสบอกว่า ตัวเลขรหัสอาจไม่ถูกต้อง จึงขอเคลียร์ระดับโลกก่อน และจะชี้แจงอีกครั้งว่าลูกของเดลต้าไปถึงไหน อย่างไร แต่วันนี้ไม่มีปัญหา การรักษาพยาบาลยังเหมือนเดิม" นพ.ศุภกิจ กล่าว