Skip to main content

หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อ 'แมงดาทะเล' หรือ horseshoe crab จนอาจถึงขั้นเสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะ 'เลือดสีน้ำเงิน' ของแมงดาทะเลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการทดสอบความปลอดภัยของวัคซีน 

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบจากการทดลองเมื่อประมาณทศวรรษ 1950 ว่า 'เลือดสีน้ำเงิน' ของแมงดาทะเลเกิดจากปฏิกิริยาในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านแบคทีเรีย หลังจากนั้นจึงได้มีการนำเลือดแมงดาทะเลไปสกัดเป็นสารตรวจเชื้อแบคทีเรีย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาด สารสกัดดังกล่าวเป็นที่ต้องการอย่างมากในการทดสอบว่าวัคซีนหรือยาต่างๆ ที่กำลังพัฒนาเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่

ช่วยมนุษยชาติ - แต่แมงดาทะเลเสี่ยงสูญพันธุ์ - กระทบระบบนิเวศ

ผลสำรวจเมื่อปี 2561 บ่งชี้ว่ามีการนำแมงดาทะเลมาใช้ในการทดลองทั่วสหรัฐอเมริการวมกว่า 464,282 ตัว ส่งผลให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงสำนักสัตว์น้ำและประมงของสหรัฐฯ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครอง ห้ามจับแมงดาทะเล แต่ 'เฮนรี แม็กมาสเตอร์' ผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนาในสหรัฐฯ ยืนยันกับสื่อมวลชนในประเทศ ทั้ง AP และ ABC News ว่า การรีดเลือดแมงดาทะเลต้องดำเนินต่อไป โดยเฉพาะช่วงที่โลกกำลังต้องการวัคซีนเพื่อนำไปใช้ป้องกันโรคระบาดอุบัติใหม่ 

แม็กมาสเตอร์ได้ยื่นคำร้องขออุทธรณ์ให้ศาลสหรัฐฯ ยกเลิกคำสั่งห้ามล่าแมงดาทะเลในรัฐเซาท์แคโรไลนาเป็นการชั่วคราว และศาลรับคำร้อง ซึ่งจะเปิดช่องให้บริษัทเอกชนล่าแมงดาทะเลเพื่อประโยชน์ด้านการทดลองและการแพทย์ได้ ตั้งแต่เดือน ส.ค. โดยแม็กมาสเตอร์ย้ำว่า บริษัทเหล่านี้จะถูกควบคุมตามกฎหมายให้รักษาสมดุลระหว่างการทดลองและการรักษาระบบนิเวศ

AP

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ว่าฯ แม็กมาสเตอร์ผลักดันโครงการรีดเลือดแมงดาทะเลในประเทศ เพราะต้องการลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น จีน และประเทศอื่นๆ ขณะที่เอบีซีนิวส์รายงานว่าบริษัท ชาลส์ ริเวอร์ ในรัฐเซาท์แคโรไลนา ที่ต้องใช้เลือดแมงดาทะเลในการดำเนินธุรกิจ เป็นผู้รับผิดชอบด้านการทดสอบวัคซีนและเวชภัณฑ์ราว 55% ของตลาดในด้านนี้ทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ แมงดาทะเลจำนวนมากจะถูกจับขึ้นมารีดเลือดสีน้ำเงิน ก่อนจะถูกปล่อยกลับสู่ทะเลรัฐเซาท์แคโรไลนา แต่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริการะบุว่า แมงดาทะเลราว 10-15% จากจำนวน 100,000 - 150,000 ตัวที่ถูกจับขึ้นมาจากทะเล ตายในกระบวนการรีดเลือดเพื่อนำไปใช้ทดสอบวัคซีนหรือเวชภัณฑ์ ถ้าปล่อยให้มีการจับแมงดาทะเลตามธรรมชาติอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาจทำให้เสี่ยงสูญพันธุ์ได้

เลือดสีน้ำเงินราคาแพงในอุตสาหกรรมยา - ส่วนไทย เน้นบริโภค

ขณะที่ Business Insider รายงานว่า เลือดแมงดาทะเลมีราคาแพงมาก ประมาณ 60,000 ดอลลาร์ต่อแกลลอน หรือประมาณ 1,800,000 บาท และแมงดาทะเลที่ถูกจับมาจะถูกรีดเลือดราว 30% มาใช้ทางการแพทย์ ก่อนจะถูกปล่อยกลับสู่ทะเล แต่ไม่อาจติดตามได้ว่าแมงดาทะเลเหล่านั้นจะมีชีวิตรอดในทะเลได้ต่อไปหรือไม่ ทั้งยังไม่มีกระบวนการเพาะเลี้ยงที่จะทำให้มีทรัพยากรแมงดาทะเลเพียงพอต่ออุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และเคมีภัณฑ์ทางการแพทย์ในปัจจุบันได้

ทั้งนี้ แมงดาทะเล เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีกระดองแข็งหุ้มลำตัว ลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า มีขาเป็นนระยางค์ 8 คู่ ทำให้มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า horseshoe crab แต่ลักษณะทางกายภาพและชีวภาพของแมงดาทะเลใกล้เคียงกับแมงป่องมากกว่าปู ทั้งยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกพบร่องรอยตั้งแต่ก่อนยุคไดโนเสาร์และยังสืบต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันโดยพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ น้อยมาก

ส่วนกรณีของประเทศไทย ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมประมง ระบุว่าแมงดาทะเลเป็นสัตว์น้ำชายฝั่งที่อยู่ในรายการอาหารทะเลราคาสูง และประชากรที่พบในธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแมงดาทะเลเพศเมียถูกจับขึ้นมาขายจำนวนมากทุกวัน จนอาจถึงภาวะสูญพันธุ์ได้ จึงมีความพยายามทดลองเพาะพันธุ์ในบ่อเลี้ยงกุ้งธรรมชาติบริเวณชายฝั่งสมทุรสาคร สมุทรสงคราม และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร เพื่อนำไปปล่อยเพิ่มพันธุ์ในธรรมชาติ

ขณะเดียวกันมักมีคำเตือนเกี่ยวกับการรับประทานแมงดาทะเล เพราะมี 2 ชนิดที่พบในไทย แบ่งเป็นแมงดาจาน กับ แมงดาถ้วย ซึ่งแมงดาจานปลอดภัยสำหรับการบริโภค แต่แมงดาถ้วยมีพิษ ทำให้ผู้รับประทานล้มป่วยและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยวิธีสังเกตคือแมงดาจานจะมีหางเหลี่ยม ลำตัวมีขนาดใหญ่กว่าแมงดาถ้วย พื้นผิวกระดองด้านบนเรียบ มีสีน้ำตาลอมเขียว มีสันและหนามเรียงกันเป็นแถวคล้ายฟันเลื่อย พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย ส่วนแมงดาถ้วยที่มีพิษจะลำตัวโค้งกลม หางกลม ผิวด้านบนมีขนสั้น สีน้ำตาลอมแดง พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน