ประชาชนกว่า 2,000 คนรวมลงชื่อผ่่านเว็บไซต์ change.org ถอดถอนคณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรม หลัง ส.ว.สมชาย แสวงการ เผยข่าวว่าคณะกรรมการดังกล่าวมีมติจะพิจารณาถอดถอน 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' นักเขียนชื่อดัง ออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ด้วยข้อกล่าวหา "สร้างความเสื่อมเสีย" โดยเจ้าตัวโพสต์เฟซบุ๊กช่วงเช้า 23 ส.ค. ระบุ "ยังรอหนังสือถอดถอน" หลังจากก่อนหน้านี้ประกาศว่ายังรอความเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ แต่ คกก.ยังเงียบ ไม่ออกมาแถลงข่าวใดๆ
ทั้งนี้ ผู้รณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนคณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรม คือ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกฎหมาย และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งระบุว่า "การเป็นศิลปินแห่งชาติไม่ควรถูกถอดถอนหรือถูกปลดออกจากตำแหน่งด้วยเหตุแห่งความแตกต่างด้านความคิดทางการเมือง" และนับตั้งแต่วันที่เริ่มแคมเปญเมื่อ 21 ส.ค.2564 ปรากฏว่ามีประชาชนร่วมลงชื่อแล้วราว 2,302 ราย เมื่อเวลา 11:45 น.วันที่ 23 ส.ค.
บุคคลแรกที่เผยแพร่ข่าวคณะกรรมการมีมติจะถอดถอน 'สุชาติ' พ้นตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ คือ 'สมชาย แสวงการ' ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระบวนการสรรหาภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสายวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นลิงก์ข่าวจากเว็บไซต์ไทยโพสต์ ที่ระบุว่าคณะกรรมการมีมติถอดถอนสุชาติโดยคาดว่าเกิดจากสาเหตุ "มีความประพฤติเสื่อมเสีย"
ขณะที่ 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' โพสต์เฟซบุ๊กว่ายังไม่ได้รับแจ้งใดๆ อย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการวัฒนธรรม และไม่ทราบว่าข้อกล่าวหาเรื่องความประพฤติเสื่อมเสียคืออะไร พร้อมทั้งระบุว่า "ถ้าคำว่า "ประยุทธ์ออกไป" "ยกเลิก ส.ว.ลากตั้ง" และ "ยกเลิก ม.112" เป็น "ความประพฤติเสื่อมเสีย" ในสายตาของ กก.วัฒนธรรม ก็บอกมาเลยครับ"
ทั้งนี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รับการประกาศชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ตั้งแต่ปี 2554 และก่อนหน้านี้มีผลงานด้านวรรณกรรมเป็นจำนวนมาก โดยหนังสือ 100 นักประพันธ์ไทย ที่ 'ผศ.ประทีป เหมือนนิล' รวบรวมไว้ ระบุว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกา สิงห์สนามหลวง, สีกัน บ้านทุ่ง, บุญ ประคองศิลป์ และอื่นๆ "มีส่วนร่วมสร้างนักเขียนเรื่องสั้นรุ่นใหม่ไว้มากมาก" ผ่านบทบาทการเป็นบรรณาธิการนิตยสารรวมเรื่องสั้น 'ช่อการะเกด' ในอดีต
หนังสือ 100 นักประพันธ์ไทยระบุว่า การประดับช่อการะเกดสำหรับเรื่องสั้นที่ดี เป็นการให้รางวัลประจำปีแก่เรื่องสั้นยอดเยี่ยมที่คัดเลือกโดยบรรณาธิการ รวมถึงให้ผู้อ่านร่วมลงคะแนน ทำให้นักเขียนรางวัลช่อการะเกดมีชื่อเสียงและมีผลงานรวมเรื่องสั้นพิมพ์เผยแพร่เรื่อยมา เช่น กนกพงศ์ สงสมพันธุ์, วินทร์ เลียววาริณ, เดือนวาด พิมวนา, มหรรณพ โฉมเฉลา, ประมวล มณีโรจน์, ประชาคม ลุนาชัย, มาโนช พรหมสิงห์ เป็นต้น
ขณะที่ผลงานประพันธ์ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สุชาติ คือ บทกวีและบทละครชื่อ 'ความเงียบ' เมื่อปี 2515 และมีงานพิมพ์เพิ่มเติมชื่อว่า 'ความเงียบในความเงียบ' และเป็นผู้คิดค้นบทกวีรูปแบบที่เรียกว่าจินตนาการ 3 บรรทัด และมีผลงานแปลอีกหลายเล่ม โดยผลงานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคืองานบรรณาธิการและความรอบรู้ด้านวรรณกรรม ทั้งของไทยและต่างประเทศ และได้รับการประกาศยกย่องเป็นนักเขียนรางวัล 'ศรีบูรพา' เมื่อปี 2540