ผลสำรวจความคิดเห็น Pew Research เกี่ยวกับการมีคู่ครองหลายคน (polygamy) ซึ่งเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายใน 130 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2562 ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.2563 ซึ่งถือเป็นข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ สรุปว่าการมีคู่ครองหลายคนเป็นวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แต่พบมากในแอฟริกาและเอเชีย ขณะที่ผู้มีคู่ครองหลายคน มีจำนวนกว่า 2% ของประชากรโลกกว่า 7,700 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ย้ำว่า ค่านิยมการมีคู่ครองหลายคนทั่วโลกมักจะอนุญาตแค่ 'ผู้ชาย' ให้สามารถมีภรรยาหลายคนได้ (polygyny) เข้าข่ายละเมิดศักดิ์ศรีผู้หญิง และประชาคมโลกควรล้มล้างแนวคิดเช่นนี้
ส่วนกรณีของไทย พบว่า 66% ของชาวไทยผู้ตอบแบบสอบถาม 'พิวรีเสิร์ช' ยอมรับการมีคู่ครองหลายคนได้ ซึ่งรวมถึงเหตุผลด้านศาสนา และสังคมไทยในอดีตก็มีค่านิยมว่าผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน "ไม่ใช่เรื่องผิด" ทั้งยังเชื่อว่าชนชั้นสูงหรือผู้ที่มีฐานะร่ำรวยสามารถเลี้ยงดูภรรยาและบุตรได้ ซึ่งค่านิยมแบบนี้พบเห็นในหลายประเทศแถบเอเชียช่วงศตวรรษที่ 20 ก่อนจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายและผิดศีลธรรมในหลายประเทศในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ไทยเพิ่งเริ่มมีกฎหมายซึ่งกำหนดให้ผู้ชายสามารถมีภรรยา "โดยชอบด้วยกฎหมาย" ได้เพียงคนเดียวหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ทั้งยังห้ามการจดทะเบียนสมรสซ้อน และมีการส่งเสริมค่านิยม 'ผัวเดียว-เมียเดียว' แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ชายไทยหลายคนยังมี 'เมียหลวง' 'เมียน้อย' และ 'เมียเก็บ' เป็นจำนวนมาก ขณะที่นิยายหรือละครที่พูดถึงตัวละครแบบ "ผัวหลายเมีย" ก็ยังได้รับความนิยมอยู่หลายเรื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
หลายประเทศยอมรับการมีคู่ครองหลายคนได้ ถ้าเป็นเหตุผลด้านศาสนา
การมีคู่ครองคนเดียว (monogamy) ยังเป็นค่านิยมหลักในหลายประเทศทั่วโลก แต่การมีคู่ครองหลายคนในเวลากัน (polygamy) ก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เนื่องจากเป็นความเชื่อทางศาสนา และผู้นับถือศาสนาคริสต์บางนิกายก็เชื่อว่าการมีคู่ครองหลายคนอยู่กินร่วมกันเป็นเรื่องยอมรับได้
ในปี 2563 มีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา หลังพบว่าชาวคริสต์นิกายมอร์มอนในรัฐยูทาห์อยู่กินกับภรรยาหลายคน นำไปสู่การปรับแก้กฎหมาย โดยผ่อนผันให้การมีคู่ครองหลายคนเป็นแค่ความผิดไม่ร้ายแรง มีบทลงโทษปรับเงิน 750 ดอลลาร์ (ประมาณ 22,500 บาท) และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ถ้าหากมีการบังคับขืนใจหรือทำร้ายร่างกาย ก็ยังถือเป็นความผิดร้ายแรงทางอาญาเช่นเดิม ส่วนรัฐอื่นๆ ในสหรัฐฯ ยังยืนยันว่าการมีคู่ครองหลายคนเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดได้ถึง 15 ปี
สาเหตุที่รัฐยูทาห์เสนอให้ผ่อนผันบทลงโทษผู้มีคู่ครองหลายคน หรืออยู่กินกันแบบ "ผัวหลายเมีย" เนื่องจากประชากรชาวคริสต์นิกายมอร์มอนจำนวนหนึ่งอ้างอิงหลักปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และมีความสัมพันธ์ในรูปแบบดังกล่าว โดยข่าวใหญ่ข่าวหนึ่ง คือ กรณีของ 'โคดี บราวน์' ซึ่งมีภรรยา 4 คน และลูก 17 คน ยื่นฟ้องศาลในรัฐยูทาห์ว่ากฎหมายห้ามมีคู่ครองหลายคนขัดรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาของพลเมืองอเมริกัน และเมื่อปี 2556 ผู้พิพากษาวินิจฉัยว่า ก.ม.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญจริง
การโต้เถียงเรื่องปรับแก้กฎหมายห้ามการมีคู่ครองหลายคนในรัฐยูทาห์จึงดำเนินมาต่อเนื่อง จนกระทั่งมีมติปรับแก้กฎหมายออกมาเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ผลักดันการปรับแก้ ก.ม.ย้ำว่า ไม่ได้ต้องการส่งเสริมการมีคู่ครองมากกว่าหนึ่งคน แต่การผ่อนผันโทษจะเปิดทางให้ผู้ที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบคู่ครองหลายคนกล้าที่จะแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ถูกละเมิดหรือถูกทำร้าย เพราะพบว่ามีผู้ถูกละเมิดแต่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ เนื่องจากกลัวจะถูกดำเนินคดีและรับโทษหนัก
นอกจากนี้ ผลสำรวจความคิดเห็น 'แกลลัปโพล' ในสหรัฐฯ ยังบ่งชี้ว่า คนอเมริกันยอมรับการมีคู่ครองหลายคนได้มากขึ้น จากเดิมที่ยอมรับได้ 7% ในปี 2547 เพิ่มเป็น 20% ในปี 2563 ซึ่งนักวิจัยของแกลลัปฯ ประเมินว่า ภาพยนตร์ สารคดี หรือรายการเรียลลิตี้โชว์เกี่ยวกับการมีคู่ครองหลายคน เช่น Big Love หรือการอยู่กินร่วมกันแบบ 'สามคนผัวเมีย' ใน Brother Husbands และ Seeking Sister Wife มีส่วนเปลี่ยนความคิดชาวอเมริกันให้มองเห็นและยอมรับความเชื่อที่แตกต่างได้มากขึ้น
หมายเหตุ: บทความเผยแพร่ครั้งแรกทางเพจ The Opener เมื่อเดือน ธ.ค.2564