'มาลาลา ยูซาฟไซ' นักกิจกรรมชาวปากีสถาน เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ซึ่งเคยถูกตอลิบานโจมตีจากการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิการศึกษาของเด็กผู้หญิง แสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของผู้หญิง ชนกลุ่มน้อยและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในอัฟกานิสถาน หลังกลุ่มตอลิบานยึดครองอัฟกานิสถานได้สำเร็จ โดยเรียกร้องผู้นำโลกเข้าแทรกแซง ปกป้องชาวอัฟกานิสถาน
มาลาลาให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Newsnight ของบีบีซี ระบุว่านี่ถึงเวลาแล้วที่บรรดาผู้นำโดยโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและชาติตะวันตก ต้องปกป้องพลเมืองและผู้ลี้ภัยในอัฟกานิสถานไปจนถึงนักกิจกรรมเพื่อสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชน โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยจากอัฟกานิสถานและผู้ที่ต้องพลัดถิ่น พร้อมย้ำว่านี่เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เร่งด่วนซึ่งเราจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ
เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพชาวปากีสถานยังกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าออกแถลงการณ์ไร้ความรับผิดชอบต่อกรณีตอลิบานเข้ายึดอำนาจในอัฟกานิสถาน โดยมองว่าวิธีการที่สหรัฐฯ พูดถึงสงครามนี้และประกาศว่าเป็นชัยชนะ เป็นการส่งสารที่สร้างความประทับใจแบบผิดๆ ตอลิบานรอคอยเวลานี้มานาน 20 ปี และหลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็มาอ้างว่านี่เป็นชัยชนะ
ความเห็นนี้ของมาลาลามีขึ้นหลังเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ 'แอนโทนี บลิงเคน' รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์เอบีซี กล่าวปกป้องภารกิจของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน โดยชี้ว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับกรณีอดีตกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้แตกเมื่อปี 2518 โดยสหรัฐฯ ส่งกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถานเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยภารกิจเดียวคือจัดการกับกลุ่มคนที่โจมตีสหรัฐฯ ในเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งภารกิจดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จแล้ว
มาลาลา วัย 24 ปี เคยเกือบต้องจบชีวิตจากการถูกมือปืนของกลุ่มตอลิบานยิงเข้าที่ศีรษะระหว่างที่เธอกำลังเดินทางจากโรงเรียนกลับบ้านในปากีสถานเมื่อปี 2555 ซึ่งขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 15 ปี โดยมาลาลาเป็นเป้าของการโจมตีจากการออกมาพูดถึงสิทธิของเด็กผู้หญิงที่จะต้องได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อของกลุ่มตอลิบานที่ห้ามผู้หญิงไปโรงเรียน โดยหลังจากรอดชีวิตจากการโจมตี มาลาลาและครอบครัวก็ได้ย้ายมาอยู่ในสหราชอาณาจักรเมื่ออายุ 17 ปี ก่อนจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2557 และกลายเป็นเจ้าของรางวัลที่อายุน้อยที่สุด
ขณะที่ในหนังสือ “I am Malala” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2556 มาลาลาได้เล่าถึงช่วงเวลาที่ตอลิบานได้บุกยึดหุบเขาสวอทซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ โดยบอกว่ากลุ่มตอลิบานได้ปิดและทำลายโรงเรียนของเด็กผู้หญิง รวมถึงสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โฆษกของกลุ่มตอลิบานในอัฟกานิสถานระบุว่า จะเริ่มกระบวนการตั้งรัฐบาลและต้องการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ โดยตอลิบานเคารพในสิทธิสตรีและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยภายใต้กฎหมายชารีอะห์ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในบางพื้นที่ที่ตอลิบานเข้ายึดครองเมื่อเร็วๆนี้ มีการห้ามผู้หญิงไปโรงเรียนและมหาวิทยาลัย รวมถึงห้ามผู้หญิงออกนอกบ้านโดยไม่มีผู้ชายเป็นผู้คุ้มครอง
อ้างอิง:
• Malala Yousafzai ‘deeply worried’ as Taliban take control in Afghanistan
• Malala Yousafzai urges world leaders to take urgent action on Afghanistan
• Afghanistan: UK and US must protect Afghan activists - Malala