คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพและสวัสดิการแห่งรัฐสภาเกาหลีใต้ เห็นชอบจ่ายเงินเยียวยาผู้ช่วยพยาบาลหญิงที่ป่วยหนักหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ สนง.ด้านสาธารณสุขยังไม่ฟันธงว่าเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีน โดยย้ำว่ากรณีนี้คือ "อุบัติเหตุจากการทำงาน" พร้อมย้ำ วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันอาการป่วยร้ายแรง
สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อ 6 ส.ค.ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ยอมรับมติของคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพและสวัสดิการประจำรัฐสภาที่ระบุว่าผู้ช่วยพยาบาลหญิง วัย 45 ปี ซึ่งมีอาการป่วยรุนแรงหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อเดือน มี.ค.2564 ต้องได้รับเงินชดเชยเยียวยา 10 ล้านวอน (ประมาณ 2.9 แสนบาท) จากรัฐบาล เนื่องจากผู้ฉีดวัคซีนไม่เคยมีประวัติป่วยด้วยโรคอื่นใดมาก่อน จึงมีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาการป่วยดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการฉีดวัคซีนโควิด
อย่างไรก็ตาม 'ชเวซึงโฮ' แห่งสำนักงานควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (KDCA) เกาหลีใต้ ย้ำว่า กรณีนี้เป็นการจ่ายเงินชดเชยผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน และยืนยันว่าผลตรวจสอบอาการป่วยที่เกี่ยวกับผู้ช่วยพยาบาลคนนี้ ไม่พบข้อมูลบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน แต่ KDCA พร้อมสอบสวนเพิ่มเติมหากมีข้อมูลอื่นนอกเหนือจากที่ได้ตรวจสอบมาแล้ว
ขณะที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ผู้ผลิตวัคซีนโควิด ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 6 ส.ค. ยืนยันว่า องค์กรด้านการตรวจสอบและกำกับดูแลด้านเภสัชกรรมระหว่างประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงให้การรับรองว่าวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันอาการป่วยขั้นร้ายแรงจากโควิด-19 และเป็นกุญแจสำคัญของโลกในการเอาชนะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
อาการข้างเคียงรุนแรง - ไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน
ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ The Korea Herald สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่า ผู้ช่วยพยาบาลคนดังกล่าวได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกในวันที่ 12 มี.ค. และมีอาการปวดศีรษะที่กินยารักษาอาการแล้วไม่หาย ทั้งยังปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเวลาไปผ่านไปราว 11 วัน เริ่มมีอาการเห็นภาพซ้อนเพิ่มเติมจากปวดศีรษะ และมีไข้สูงถึง 38 องศาเซลเซียส
จนกระทั่งวันที่ 31 มี.ค. ผู้ช่วยพยาบาลคนดังกล่าวถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการอัมพฤกษ์ ไม่สามารถขยับตัวและแขนขาได้เลย ขณะที่แพทย์วินิจฉัยอาการว่าเป็นไข้สมองอักเสบ หรือ ADEM โดยอาการที่เกี่ยวเนื่องกับสมองและไขสันหลังอักเสบ ซึ่งกรณีนี้ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเกาหลีถูกประชาชนและสื่อวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน แม้ว่าจะได้รับแจ้งเรื่องผู้ช่วยพยาบาลคนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.
จากกรณีดังกล่าว ทำให้คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพและสวัสดิการเปิดการไต่สวน และนำไปสู่ข้อสรุปให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้ช่วยพยาบาลที่ล้มป่วยหลังฉีดวัคซีนโควิด โดยอ้างอิงข้อมูลการตรวจสุขภาพของเธอเมื่อเดือน ม.ค. ซึ่งระบุว่า ไม่มีอาการผิดปกติหรือโรคประจำตัวใดๆ มาก่อน
หนังสือพิมพ์ Korea Joon Ang Daily รายงานอ้างอิง 'ซูจองซุก' ส.ส.พรรค PPP คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพและสวัสดิการ ระบุว่า การที่โรคหายากเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงในวัย 40 ปี เป็นเหตุบ่งชี้ให้คิดได้ว่าสภาวะดังกล่าวอาจเกี่ยวกับการได้ฉีดวัคซีน ก่อนที่ KCDA จะออกมาแถลงว่ากรณีของผู้ช่วยพยาบาลคนนี้ยังไม่นับว่าเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีน เพราะข้อมูลไม่ชัดเจน แต่ให้ถือเป็นการชดเชยผู้เสียหายจากอุบัติเหตุจากการทำงานแทน
ประเทศไทยจ่ายชดเชยก่อนเกาหลีใต้
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า กรณีของผู้ช่วยพยาบาลที่ป่วยด้วยโรคไข้สมองอักเสบ ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเกาหลีใต้ยอมจ่ายเงินชดเชยเยียวยาในการพิจารณากรณีเกี่ยวเนื่องกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ขณะที่หลายประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิกตั้งกองทุนหรือมีมาตรการรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิดไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และไทย
กรณีของประเทศไทย รอยเตอร์สรายงานว่ารัฐบาลจ่ายเงินไปแล้วกว่า 13 ล้านบาทแก่ผู้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดประมาณ 400 รายทั่วประเทศ โดยมีเกณฑ์จ่ายเงิยชดเชยกรณีเสียชีวิต 400,000 บาท และจ่ายเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาทแก่ผู้ได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนในประเทศไทยก็ยังยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้มีอาการป่วย แม้จะยังไม่อาจระบุได้ว่าเป็นการป่วยจากผลข้างเคียงของวัคซีนจริงหรือไม่
ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ ต้องตั้งกองทุนหรือประกาศมาตรการชดเชยผู้รับวัคซีนที่มีอาการไม่พึงประสงค์ เป็นเพราะบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิดได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อเอาผิดหากมีผู้ได้รับผลข้างเคียงร้ายแรงหรือถึงแก่ชีวิต เนื่องจากการผลิตวัคซีนเพื่อใช้งานเป็นกรณีฉุกเฉินถือเป็นวาระสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก จึงได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องรับผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้