Skip to main content

วีโอเอไทย รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวประณามแผนลอบทำร้ายทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติที่ถูกเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 ส.ค.) ว่า เป็นรูปแบบที่ผู้นำเผด็จการทั่วโลกและพวกพ้องมักนำมาใช้เพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สบายใจอย่างยิ่ง

เมื่อวันศุกร์ ชาวเมียนมาสองรายถูกทางการสหรัฐฯ จับกุมตัวในข้อหาวางแผนลอบทำร้ายทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ 'จอ โม ตุน' และถึงขั้นอาจทำให้เสียชีวิต

บุคคลสองรายดังกล่าวที่ชื่อ เปียว เฮียน ฮัต และยี เฮียน ซอว์ ถูกอัยการสหรัฐฯ ตั้งข้อหาว่าวางแผนทำร้ายหรือสังหารทูต จอ โม ตุน บนแผ่นดินสหรัฐฯ โดยทูตเมียนมาผู้นี้ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่องตั้งเเต่เหตุรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ลินดา โธมัส-กรีนฟีลด์ กล่าวว่า การคุกคามทูตเมียนมาประจำยูเอ็น คือหนึ่งในรูปแบบที่ผู้นำระบอบอำนาจนิยมทั่วโลกมักนำมาใช้ ซึ่งรวมถึงการดำเนินคดีและปราบปรามผู้สื่อข่าว นักรณรงค์ และผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อต้านระบอบเผด็จการเหล่านั้น​

สำนักข่าวเอพีอ้างอิงเอกสารของศาลในเขตไวท์เพลนส์ รัฐนิวยอร์ก ที่ระบุว่า ผู้จ้างวานบุคคลทั้งสอง คือนักค้าอาวุธไทยที่ขายอาวุธให้กองทัพเมียนมา ในความพยายามที่จะทำร้ายทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติผู้นี้ เพื่อกดดันให้เขาลาออกจากตำแหน่ง

สำหรับผู้จ้างวานชาวไทยที่เป็นนักค้าอาวุธ เอกสารของศาลระบุว่า เขาติดต่อเปียว เฮียน ฮัต เมื่อเดือนที่เเล้ว (ก.ค. 64) และยินดีที่จะจ่ายเงินหลายพันดอลลาร์ในการก่อเหตุ นอกจากนั้นยังได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้กับฮัต 2,000 ดอลลาร์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม

ผู้ต้องหารายนี้ซึ่งอายุ 28 ปี กล่าวว่าเขาเตรียมที่ก่อเหตุให้ดูเหมือนว่าทูตจอ โม ตุนประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ด้วยการทำให้ล้อรถทำงานผิดปกติ โดยผู้ต้องหาได้รับเงิน 4,000 ดอลลาร์และจะได้เงินเพิ่ม 1,000 ดอลลาร์หากทำสำเร็จ

ด้านซอว์ อายุ 20 ปี ผู้ต้องหารายที่สอง สารภาพหลังถูกจับว่ามีส่วนร่วมโดยเป็นผู้ส่งเงิน 4,000 ดอลลาร์ให้ฮัต ขณะนี้ฮัตยอมที่จะถูกควบคุมตัว ส่วนซอว์กำลังรอที่จะปรากฏตัวต่อศาล หากทั้งคู่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อกล่าวหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ชาวต่างชาติในแผ่นดินอเมริกัน พวกเขาอาจเจอโทษสูงสุด จำคุก 5 ปี

ตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทูตจอ โม ตุน เรียกร้องให้นานาประเทศดำเนินการ "อย่างเเข็งขันที่สุด" ในการช่วยนำประชาธิปไตยกลับมาสู่เมียนมา และแม้ว่ากองทัพเมียนมาพยายามปลดเขาออกจากตำแหน่งทูตประจำสหประชาชาติ แต่สมัชชาใหญ่ของยูเอ็นซึ่งรับผิดชอบในการรับรองตำแหน่งทูต ยังไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลภายใต้กองทัพเมียนมา