Skip to main content

สำนักข่าว CGTN สื่อในความควบคุมของรัฐบาลจีน รายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายใหม่ใน 'อู่ฮั่น' เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสต้นตอโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 และเป็นการพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกที่นี่นับตั้งแต่เดือน พ.ค.ซึ่งผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ 

ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 รายได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีอัตราการติดต่อรวดเร็วและมีผลให้เกิดอาการป่วยรุนแรงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม Sars-CoV-2 แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของอู่ฮั่นยืนยันว่าผู้ติดเชื้อทั้งหมดได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด และจะติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดเพื่อสืบหาต้นตอ พร้อมเร่งตรวจคัดกรองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเป็นลำดับต่อไป

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ The Global Times สื่อของรัฐบาลจีน รายงานเมื่อ 2 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า การจัดมหกรรมคอนเสิร์ตนานาชาติ Sino-French Music Festival ครั้งที่ 14 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่อู่ฮั่น ได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ และยังไม่มีคำสั่งระงับหรือยกเลิกการจัดกิจกรรมกลางแจ้งดังกล่าว ซึ่งมีผู้ซื้อบัตรเข้าร่วมงาน 400 ราย ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้ชมการถ่ายทอดสดออนไลน์

ต้นตอนำเข้าสายพันธุ์เดลตา 'เที่ยวบินระหว่างประเทศ'

ส่วนเว็บไซต์ Bloomberg สื่อเอกชนฝั่งตะวันตก รายงานว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนตรวจพบการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในกลุ่มประชากรจีนกลางเดือน ก.ค. โดยมีต้นตอจากเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เดินทางจากกรุงมอสโกของรัสเซียมายังปลายทางเมืองนานจิง ทางตะวันออกของจีน 

ผู้ตรวจพบการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์กลุ่มแรกในจีนคือพนักงานทำความสะอาดสนามบินในเมืองนานจิง หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์จึงพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาเพิ่มเติมที่ไห่หนาน (หรือมณฑลไหหลำ) ตามด้วยเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดเชื้อได้พักหนึ่งตั้งแต่เดือน พ.ค.เป็นต้นมา 

ส่วนรายงานล่าสุดบ่งชี้ว่ามีผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตารายใหม่ รวมกว่า 300 ราย ใน 14 มณฑลทั่วประเทศจีน 

ฉีดวัคซีนเชื้อตายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ 

บลูมเบิร์กประเมินว่าการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สายพันธุ์เดลตา อาจทำให้จีนเร่งการพัฒนาและผลิตวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) หรือพิจารณาเรื่องการใช้วัคซีนไวรัลเวกเตอร์ เช่น แอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากมีผลวิจัยบ่งชี้ว่าวัคซีนชนิดดังกล่าวมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดลตาสูงกว่าการฉีดวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่รัฐบาลจีนฉีดให้ประชากรตัวเอง จนเป็นประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เกือบ 60% ของจำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจ ยืนยันว่าวัคซีนเชื้อตายของซิโนฟาร์มยังมีประสิทธิภาพราว 68% ในการป้องกันเชื้อไวรัสเดลตาได้ โดยอ้างอิงผลวิจัยในประเทศศรีลังกา ขณะที่บริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ซึ่งเป็นกิจการของเอกชน ผู้ผลิตวัคซีนเชื้อตายโคโรนาแวค ยืนยันผ่านสื่อจีน Global Times อ้างอิงผลทดลองในห้องแล็บ ย้ำว่าวัคซีนของซิโนแวคป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดี แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม