'ไมเคิล ฮีธ' อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวระหว่างการแถลงข่าวออนไลน์ เกี่ยวกับการมาถึงของวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคให้กับไทย โดยระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ถูกส่งถึงสนามบินสุวรรณภูมิแล้ววันนี้ (30 ก.ค.) เมื่อเวลา 04:00 น. เป็นการให้เปล่าไม่มีเงื่อนไข ตามนโยบายของประธานาธิบดี 'โจ ไบเดน' เพื่อช่วยประเทศพันธมิตรต่อสู้กับโรคโควิด-19
วัตถุประสงค์หนึ่งเดียวคือการช่วยชีวิตผู้คนด้วยความตระหนักว่าไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ทั้งยังชื่นชมการทำงานของบุคลากรการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขของไทยที่ทำงานเพื่อควบคุมการระบาด
อุปทูตสหรัฐฯ ยังยืนยันคำกล่าวของสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ 'แทมมี่ ดักเวิร์ธ' ว่าสหรัฐฯ เตรียมบริจาควัคซีนให้ไทยเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส รวมเป็น 2.5 ล้านโดส โดย ณ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าวัคซีนบริจาคล็อตต่อไปจะเป็นยี่ห้ออะไรและไม่ได้เผยกรอบเวลาว่าจะถูกจัดส่งมาเมื่อไร แต่ยืนยันว่าวัคซีนของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ล้วนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย
เมื่อถูกสื่อมวลชนถามถึงกรณีเครือข่ายบุคลากรการแพทย์ของไทยได้ยื่นจดหมายต่อสถานทูตสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสในการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสที่สหรัฐฯ บริจาคให้ทางการไทย และสหรัฐฯ จะมีกลไกที่ทำให้แน่ใจหรือไม่ว่าการจัดสรรวัคซีนที่ได้รับมาจะเป็นไปตามเป้าหมายของการบริจาค อุปทูตสหรัฐฯ ระบุว่าการจัดสรรวัคซีนเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทย สหรัฐฯ ไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆ ในการบริจาค และไม่มีอำนาจในการไปกำหนดควบคุม ซึ่งไม่ต่างกับเวลาที่สหรัฐฯ บริจาควัคซีนให้กับอีกเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยในการดูแลจัดสรรวัคซีน
อย่างไรก็ตาม อุปทูตระบุว่าสหรัฐฯ ได้รับทราบและประสานจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยหลายคนว่า ทางรัฐบาลไทยจะเน้นจัดสรรวัคซีนโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงสูงสุดอันดับแรก ได้แก่ บุคลากรด่านหน้า แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยตรง ไปจนถึงผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง
“ผมสนับสนุนแพทย์และบุคลากรการแพทย์ที่เรียกร้องให้มีการจัดสรรวัคซีนไปยังกลุ่มเสี่ยงสูงสุดก่อน และยังสนับสนุนหลักการที่ว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคนควรสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีสัญชาติอะไร ตามที่มีคำกล่าวว่าไม่มีใครจะปลอดภัยจนกว่าเราทุกคนจะปลอดภัย ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างชาติเราก็สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ทั้งนั้น ดังนั้นหากแต่ละคนได้รับการฉีดวัคซีน ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากที่ไหน ก็จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการระบาดโควิด-19 ” นายไมเคิล ฮีธ กล่าว
อุปทูตสหรัฐฯ ยังคาดหวังว่าจะได้เห็นการปฏิบัติที่เป็นธรรม เท่าเทียม มีประสิทธิภาพในการจัดสรรแจกจ่ายวัคซีน พร้อมยืนยันว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการให้ความสำคัญต่อจัดสรรวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข นอกจากนี้ยังระบุว่า ประชาชนไทยอาจจะต้องติดตามข่าวสารและประกาศจากหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามข้อกำหนดต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อถูกตั้งคำถามถึงประเด็นการทูตวัคซีนว่า การบริจาควัคซีนของสหรัฐฯ ดูจะล่าช้ากว่าจีนหรือไม่ อุปทูตสหรัฐฯ ชี้แจงว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขไทยนับตั้งแต่การระบาดช่วงแรกเมื่อต้นปีที่แล้ว มีการบริจาคอุปกรณ์ป้องกันส่วนตัว หน้ากากอนามัย ชุด PPE ไปจนถึงเครื่องช่วยหายใจให้กับไทย รวมถึงมีส่วนช่วยในการตรวจจับการติดเชื้อกรณีแรกๆ อีกด้วย นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการระบุเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ที่พบในไทย รวมถึงเชื้อสายพันธุ์เดลตา
อุปทูตสหรัฐฯ ยังระบุว่าแม้สหรัฐฯ อยากบริจาควัคซีนให้เร็วกว่านี้ แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันคือเมื่อปีที่แล้วสหรัฐฯ ก็เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 500,000 คน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็มีกฎระเบียบด้านเภสัชกรรมที่เข้มงวด ต้องมีการวิจัย ทดลอง รวบรวมข้อมูลต่างๆ ในทางวิชาการจนกว่าจะมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงมีความโปร่งใส จึงจะสามารถออกวัคซีนมาได้และบริจาคให้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และตามที่ได้เห็นว่าสหรัฐฯ ตั้งใจจะเป็นโรงงานวัคซีนโลก จึงได้มีความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนทั่วโลกในการเป็นศูนย์กลางผลิตวัคซีนเช่นกัน ทำให้อีกไม่นานนี้เราจะได้เห็นเครือข่ายการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยขยายตัวอย่างรวดเร็ว