Skip to main content

เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรีและกลุ่มราษฎร รวมตัวหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ช่วงเย็นวันที่ 12 ก.พ.2564 เพื่อจัดกิจกรรม “วันศุกร์ ปลุกความยุติธรรม – เทียนขาว พร้อมหัวใจที่ผูกพัน” โดยมีเป้าหมายเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมเนื่องจากคดี ม.112 รวม 4 ราย ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) อานนท์ นำภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์)

การชุมนุมเกิดขึ้นบริเวณริมถนนหน้าเรือนจำ โดยมีตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ยืนประจำการอยู่บริเวณด้านในรั้วเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขณะที่เพจราษฎร ประกาศนัดหมายชุมนุมในวันพรุ่งนี้ (13 ก.พ.2564) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 15.00 น. โดยระบุเป้าหมายเพื่อ “ร่วมตะโกนให้รัฐรับรู้ความทุกข์ยากของประชาชน มาร่วมส่งเสียงให้ศาลปล่อยเพื่อนเรา มาร่วมแสดงออกให้โลกรับรู้ว่าเราไม่เอามาตรา 112”

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมราษฎรและองค์กรด้านกฎหมายในประเทศไทยบางส่วนคัดค้านการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองนับร้อยคนในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับองค์การระหว่างประเทศและผู้ที่เป็นตัวแทนรัฐบาลบางประเทศ โดยกรณีล่าสุด คือ ‘เจค ซัลลิแวน’ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของ ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน

เว็บไซต์ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่แถลงการณ์สรุปประเด็นที่ซัลลิแวนระบุว่าได้พูดคุย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อย้ำจุดยืนความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ในการจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงหารือด้านสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเมื่อ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา

ทว่า พล.อ.ณัฐพล ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทย เช่นเดียวกับ ‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ที่ต่างฝ่ายต่างก็ปฏิเสธว่า “ไม่มีการพูดคุยกัน” ระหว่างเลขาฯ สมช,ไทย กับที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของ ปธน.สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกกล่าวถึงในต่างประเทศ เพราะเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะผู้รายงานพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายมาตรา 112 เพื่อจับกุมและดำเนินคดีนักกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา โดยระบุว่ากระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ขณะที่สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำเอเชีย (OHCHR Asia) ทวีตข้อความเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ระบุว่า 'กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ' ไม่ควรมีอยู่ในประเทศประชาธิปไตย

::: องค์กรสิทธิฯ ชี้ รัฐใช้อำนาจปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ :::

ขณะเดียวกัน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ทางการไทยยังคงใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมโดยมิชอบ เพื่อปิดปากไม่ให้บุคคลวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและปัญหาสังคม และเป็นส่วนหนึ่งในการยืนยันถึงรูปแบบการคุมขังอย่างยาวนานก่อนพิจารณาคดีของผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 ภายใต้บริบทของความมั่นคงของรัฐ แต่แอมเนสตี้ฯ ยังคงเน้นย้ำว่า การใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งทางการไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ ทั้งยังถูกระบุในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 ด้วย

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ทั้ง 4 คน ถูกสั่งฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และความผิดตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภณสถาน พ.ศ. 2542 จากการชุมนุม "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร" ณ สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 - 20 ก.ย. 2563 โดยพริษฐ์ถูกสั่งฟ้องมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากการชุมนุม "ม็อบเฟส" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2563

หลังจากศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว แกนนำทั้ง 4 คนจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างรอการพิจารณาคดี จนกว่าศาลจะมีคำสั่งให้ประกันตัวหรือจนกว่าคดีจะจบ ซึ่งยังไม่ทราบระยะเวลาที่แน่นอน