เปิดหนังสือชาวบางกลอย วอนคณะกรรมการมรดกโลก ช่วยผลักดันแก้ไข 3 ปัญหา ก่อนขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจาน - เผย กก.ชุด 'ธรรมนัส' ไม่คืบ - ด้านคนเมืองเพชรระดมทุนช่วยชุมชนกะเหรี่ยงต้นน้ำขาดแคลนอาหาร ย้ำ "มนุษยธรรมต้องมาก่อนความขัดแย้ง" - นักวิชาการเชื่อยูเนสโกฟังเหตุผลชุมชนมากกว่ารายงานสวยหรู
ชาวบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขียนหนังสือด้วยลายมือส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อ 21 ก.ค.2564 ระหว่างที่คณะกรรมการฯ จัดประชุมออนไลน์ในวันที่ 16-31 ก.ค. โดยมีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าภาพ โดยหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยโดยกรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพยายามผลักดันให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยอ้างว่าได้แก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านบางกลอยแล้วเสร็จ
เนื้อหาในหนังสือ อ้างถึงการให้การของ 'วราวุธ ศิลปอาชา' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าได้แก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอย โดยอ้างถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านบางกลอย ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ในฐานะคนในชุมชนบ้านบางกลอย ตามความเป็นจริงแล้ว ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เช่น ที่ดินทำกิน การกลับไปอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม ไม่ยอมรับการทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชนบ้านบางกลอย
หนังสือระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 ชาวบ้าน 26 ครอบครัวได้กลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและดำเนินคดี เจ้าหน้าที่อ้างว่าพวกเราชาวบ้านบางกลอยบุกรุกแผ้วถางป่าตามความเป็นจริงแล้วพวกเรากลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษเคยทำกินมาก่อน ฉะนั้นพวกเรามีข้อเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก ก่อนที่จะขึ้นป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ 1.ให้พวกเราได้กลับไปทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมที่เรียกว่าบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน 2.ขอให้ยกเลิกคดีของพวกเราชาวบ้านบางกลอยทั้ง 28 คน 3.ให้จัดการพื้นที่ทำกินให้กับพวกเราส่วนหนึ่งที่มีความประสงค์อยากอยู่บางกลอยล่าง
“พวกเราชาวบ้านบางกลอยหวังว่าท่านจะพิจารณาข้อเสนอของพวกเรา ก่อนที่จะขึ้นกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ” หนังสือระบุ
กสม.ชี้ รัฐบาลควรแก้ปัญหาชาวบ้านซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมให้ได้
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ 16 มี.ค. หรือเมื่อราว 4 เดือนก่อน ประกอบด้วยคณะกรรมการ 28 คน ซึ่งมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และ 'นฤมล ภิญโญสินวัฒน์' รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นรองประธาน
จากนั้นจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมา 5 ชุด อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกล่าวว่า "ไม่ได้รับรู้ความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหาใดๆ เลยทั้งๆ ที่เป็นความหวังสุดท้ายของชาวบ้านบางกลอย" จนทำให้หลายคนเกิดท้อใจ และเตรียมหาช่องทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองอีกครั้ง
'ปรีดา คงแป้น' กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสม.ได้มีข้อเสนอแนะในระดับนโยบายให้หยุดการจับกุมชาวบ้านบางกลอย เพราะชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมพร้อม ทั้งขอให้ตั้งกลไกในการแก้ปัญหา แต่จากการติดตามข้อเสนอแนะ ปรากฎว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด รวมทั้งมีข่าวว่าชาวบ้านบางกลอยเผชิญกับปัญหาความขาดแคลนอาหาร จนต้องกลับไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่เดิม และมีการจับกุมชาวบ้านกลุ่มนี้ ดังนั้น กสม.จึงได้หยิบยกเรื่องบางกลอยขึ้นมาติดตามอีกครั้ง เพราะปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข
นอกจากนี้ยังมีเรื่องร้องเรียนจากกะเหรี่ยงบางกลอยต่อ กสม.ชุดใหม่เพิ่มเข้ามา รวมทั้งเมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลจะผลักดันแก่งกระจานเป็นมรดกโลกในช่วงกลางเดือน ก.ค.นี้ กสม.จึงทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ยืนยันว่า กสม.เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของผืนป่าแก่งกระจาน แต่รัฐบาลควรแก้ปัญหาชาวบ้านซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมให้ได้ก่อน
นักวิชาการเชื่อ ยูเนสโกฟังเสียงชาวบ้าน - คนเมืองเพชรเล็งช่วยคนบางกลอย
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ในความเป็นจริงยังไม่มีการกระทำใดที่จะช่วยปรับปรุงแก้ไขความสัมพันธ์กับชุมชนให้ดีขึ้น ในทางกลับกัน รัฐยังทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง เพราะคิดเสมอว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบุกรุกป่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมายังบังคับขับไล่เขาออกจากที่ทำกินในถิ่นฐานเดิม และจับกุมดำเนินคดีชาวกะเหรี่ยงถึง 28 คน ซึ่งรวมทั้งสตรีและผู้สูงอายุที่พิการในข้อหาทำลายป่า ทั้งที่เขาปลูกข้าวกินแบบไร่หมุนเวียนตามประเพณีในที่เดิมที่เขาเคยทำมา
ผู้ต้องหาทั้ง 28 คนถูกเงื่อนไขการประกันตัวของศาลไม่ให้เข้าพื้นที่ทำกิน พวกเขาจึงตกอยู่ในสภาพอดอยากยากแค้น ต้องขอรับบริจาคอาหารและของใช้จำเป็นจากบุคคลข้างนอก ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งและละเมิดสิทธิมนุษยชนในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรเพื่อการยังชีพอีกด้วย
“ผมเชื่อว่ายูเนสโกจะฟังเหตุผลของชุมชนผู้รักษาป่าและพิจารณาประเด็นความสัมพันธ์กับชุมชนในการจัดการผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกด้วยข้อมูลตามความเป็นจริงจากผู้รักษาป่าตามวิถีวัฒนธรรมที่แท้จริง มากกว่าคำพูดสวยหรูในรายงานที่ปราศจากความเป็นจริง”ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ 'อัญชลี อิสมันยี' ผู้ประสานงานภาคีเซฟบางกลอย จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ชาวเพชรบุรีรู้สึกเห็นใจชาวบ้านบางกลอย เนื่องจากพบว่าขณะนี้ชาวบ้านบางกลอยมีอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะการขาดสารอาหาร จำนวน 34 คน มีอาการมือเท้าสั่น ใจสั่น ปวดหัว ไม่มีเรี่ยวแรง และมีเด็กเล็ก 13 คนต้องกินน้ำข้าวแทนนมแม่ เนื่องจากร่างกายแม่ไม่สามารถผลิตน้ำนมได้ ชาวเพชรบุรีจึงรู้สึกเห็นใจและต้องการช่วยเหลือตามหลักของมนุษยธรรม โดยมองข้ามข้อกังขาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จนโดนคดี เพราะมองว่ามนุษยธรรมต้องมาก่อน เด็กๆ ควรได้รับการดูแล
อัญชลีกล่าวว่า ขณะนี้คนเพชรบุรีได้ร่วมกันบริจาคเงินเป็นจำนวนกว่า 70,000 บาท รวมถึงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อโควิด โดยเป็นเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังมีนมกล่อง ข้าวสาร และอาหารแห้ง เช่น กุนเชียง หมี่โคราช โดยเงินบริจาคนั้นได้นำไปซื้อผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปจากชุมชนชาวเล ที่กำลังมีปัญหาขาดแคลนข้าว เนื่องจากไม่สามารถขายปลาได้
“หลังจากนี้จะนำเงินบริจาคไปซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแห้งและพืชผักจากชาวบ้านโดยตรง โดยเน้นชุมชนที่กำลังมีความเดือดร้อน และเกษตรกรในพื้นที่แก่งกระจานและจังหวัดเพชรบุรีก่อน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชนด้วยกันเองใน” อัญชลีกล่าว