ภาพยนตร์ 'Memoria' ของผู้กำกับ 'อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล' ซึ่งร่วมงานกับนักแสดงชื่อดังทางฝั่งตะวันตก 'ทิลดา สวินตัน' ได้รับรางวัล Prix du Jury ร่วมกับภาพยนตร์ของ 'นาดัฟ ลาพิด' ผู้กำกับภาพยนตร์จากอิสราเอล เจ้าผลงานเรื่อง Ahed's Knee ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่ 74 ซึ่งจัดพิธีประกาศผลรางวัลไปเมื่อ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา
รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่ 4 ซึ่งอภิชาตพงศ์ได้รับจากเทศกาลนี้ ทั้งยังเป็นผู้กำกับของไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับทั้งรางวัลใหญ่สุดอย่าง Palm D'or และรางวัลพิเศษ Prix du Jury และ Un Certain Regard จากผลงานต่างๆ ของเขา ซึ่งประกอบด้วย สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ปี 2545, สัตว์ประหลาด (Tropical Malady) ปี 2547, ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ในปี 2553 และเรื่องล่าสุดคือ Memoria
(ภาพจากเฟซบุ๊ก Sakda Kaewbuadee Vaysse นักแสดงนำจากผลงาน 'สัตว์ประหลาด' ของอภิชาติพงศ์)
คำกล่าวขณะรับรางวัลของอภิชาติพงศ์ถูกรายงานโดยสื่อไทยหลายสำนักรายงานว่าเป็นการ 'call out' หรือการเรียกร้องโดยตรงถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน คือการที่เขาระบุว่า “ผมโชคดีที่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ ในขณะที่เพื่อนร่วมชาติของผมจำนวนมากไม่สามารถเดินทางได้ หลายคนต้องเจอความยากลำบากจากโรคระบาด เพราะการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทั้งการจัดการทรัพยากรและการเข้าถึงวัคซีน"
"ผมขอเรียกร้องรัฐบาลไทยและรัฐบาลโคลอมเบีย รวมถึงรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ขอให้ตื่นขึ้นมา และทำงานเพื่อประชาชนของพวกคุณทันที”
ครั้งหนึ่ง ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังวัฒนธรรมเคยบอกว่า "ไม่มีใครดูหนังของอภิชาติพงศ์"
แม้ว่าในปี 2548 อภิชาติพงศ์จะได้รับรางวัล 'ศิลปาธร' จากกระทรวงวัฒนธรรม ที่มีกฎเกณฑ์ว่าจะมอบรางวัลให้กับคนไทยที่สร้างชื่อเสียงด้านวัฒนธรรมให้แก่ประเทศ แต่อีกราว 2 ปีให้หลัง ซึ่งประเทศไทยเพิ่งจะผ่านพ้นการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 มาได้ไม่นานนัก ภาพยนตร์เรื่อง 'แสงศตวรรษ' ของอภิชาติพงศ์ก็ถูกสกัดโดยคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ ซึ่งระบุว่าจะไม่คืนฟิล์มภาพยนตร์ให้ ถ้าเขาไม่ตัด 4 ฉากที่คณะกรรมการพิจารณาว่า 'ไม่เหมาะสม' ออกจากผลงาน
ฉากที่ว่าทั้งหมด ได้แก่ 1. ฉากพระกำลังเล่นกีตาร์ 2. ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ 3. ฉากหมอชายจูบแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล และ 4) ฉากพระเล่นเครื่องร่อน ซึ่งการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากกลุ่มคนทำงานในวงการภาพยนตร์และศิลปะที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังมีการลงชื่อเรียกร้องให้ทบทวนระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่อยู่ภายใต้คณะกรรมการไม่กี่คนที่รับหน้าที่ 'เซ็นเซอร์' สื่อต่างๆ แบบไม่พิจารณาบริบทอย่างรอบด้าน
แม้แต่สื่อต่างชาติอย่างนิตยสาร Time ก็เผยแพร่บทความ Making the Cut โดยรายงานว่า ฉากที่ถูกตัดในภาพยนตร์แสงศตวรรษ ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Syndromes and a Century เป็นสิ่งที่หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงถูกตัด แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะประเทศไทยยังคงใช้กฎหมายเก่าแก่ตั้งแต่ พ.ศ.2473 ในการพิจารณาสื่อภาพยนตร์ ซึ่งอภิชาติพงศ์กล่าวว่าเป็นระบบที่น่าเหนื่อยใจ
ไทม์ได้สัมภาษณ์ 'ลัดดา ตั้งสุภาชัย' ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่ยืนยันว่าสิ่งที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ทั้งยังระบุด้วยว่าระบบเรตติ้งและการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์คือสิ่งจำเป็น เพราะคนไทยที่ไปดูหนังส่วนใหญ่ "ด้อยการศึกษา" (uneducated) ทั้งยังระบุด้วยว่า "ไม่มีใครไปดูหนังของอภิชาติพงศ์" เพราะ "คนไทยอยากดูหนังตลก พวกเราชอบหัวเราะ" (Nobody goes to see films by Apichatpong," she says. "Thai people want to see comedy. We like a laugh.)
เปรียบเทียบ 'ไทย-โคลอมเบีย' คล้ายกันตรงที่ "มีบางสิ่งอยู่ข้างใน"
ผลงาน Memoria ที่ได้รับรางวัลของอภิชาติพงศ์ไม่ได้เป็นตัวแทนจากประเทศไทย เพราะเกิดจากการร่วมทุนหลายแหล่ง โดยเป็นส่วนผสมของทีมงานไทยและต่างชาติ รวมถึงนักแสดงหลายเชื้อชาติ ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวในภาษาอังกฤษกับสเปน รวมถึงถ่ายทำที่ประเทศโคลอมเบีย ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทยหรือความเป็นชาตินิยมใดๆ
ก่อนหน้านี้อภิชาติพงศ์เคยให้สัมภาษณ์กับ The Hollywood Reporter โดยระบุว่า มีความคล้ายกันบางประการระหว่างโคลอมเบีย ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำ Memoria และประเทศไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาและเป็นฉากหลังของภาพยนตร์หลายเรื่องที่ผ่านมา โดยสิ่งที่เขาเห็นว่าคล้ายกัน คือ ความเชื่อและการพิพากษาโทษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผีสางหรือสิ่งที่เก็บเอาไว้ข้างในใจ ซึ่งอภิชาติพงศ์มองว่าน่าจะเป็นเพราะทั้งสองประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และมีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้น จึงมี 'บางสิ่ง' ที่ไม่ได้พูดออกมา และเป็นเหตุผลที่เขาพยายามถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นออกมา
ส่วน 'ทิลดา สวินตัน' นักแสดงนำชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชื่นชมผลงานของอภิชาติพงศ์ตั้งแต่ก่อนจะร่วมงานกันในเรื่อง Memoria เคยกล่าวถึงผลงานเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ โดยระบุว่าเป็นภาพยนตร์ที่จะทำให้คนดู "ไปยังบางแห่งที่ไม่เคยไปเยือนมาก่อนบนโลกนี้" ขณะที่บทบาทของเธอใน Memoria คือบท 'เจสซิกา' นักเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ที่เดินทางไปเยี่ยมน้องสาวที่กรุงโบโกตา ก่อนจะได้ยินเสียงประหลาดซึ่งดังขึ้นมาและปลุกให้เธอตื่น