Skip to main content

สื่อหลายสำนัก ทั้ง Caixin Media, Reuters, South China Morning Post และ Nikkei Asia รายงานว่าคณะกรรมการกำกับดูแลด้านเภสัชกรรมแห่งชาติจีน รับคำร้องของบริษัทไบโอเอ็นเทค ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) เพื่อขออนุมัติใช้งานในประเทศจีน โดยคาดว่าจะผ่านการพิจารณาเร็วๆ นี้ และจะทำให้วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีน mRNA และวัคซีนของบริษัทต่างชาติตัวแรกที่จะฉีดให้กับประชาชนจีนแผ่นดินใหญ่ 

หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ (SCMP) สื่อฮ่องกง รายงานอ้างอิงคำแถลงของ 'อู่อี้ฟาง' ประธานบริหารของบริษัทฝอซุนฟาร์มา (Fosun Pharma) กิจการจีนที่ร่วมทุนกับไบโอเอ็นเทค และจะรับหน้าที่นำเข้าวัคซีน mRNA มาฉีดในจีน โดยใช้ชื่อแบรนด์ Comirnaty ซึ่งอู่เปิดเผยในการประชุมผู้ถือหุ้นฝอซุนฟาร์มาว่าการพูดคุยกับคณะกรรมการฯ ดำเนินไปด้วยดี และคาดว่าจะผ่านการพิจารณาในไม่ช้านี้

สื่อฮ่องกงระบุว่าช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่อนุมัติการใช้งานวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่วัคซีนของบริษัทซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม และจื่อเฟิง ที่ล้วนแต่ผลิตในประเทศ รวมถึงวัคซีนแคนซิโน (CanSino Bio) ที่เป็นวัคซีนเวกเตอร์ไวรัส (Recombinant Viral Vector Vaccine) ซึ่งใช้ไวรัสเป็นพาหะในการกระตุ้นภูมิ แต่ยังไม่มีการผลิตวัคซีนที่เป็นชนิดสารพันธุกรรม mRNA ในประเทศจีน ขณะที่งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการฉีดวัคซีน mRNA จะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาได้ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ

สายพันธุ์เดลตา กระตุ้นจีนพิจารณาวัคซีนเข็ม 3

การรายงานข่าวเรื่องการพิจารณาอนุมัติวัคซีน mRNA ที่เป็นความร่วมมือระหว่างฝอซุน-ไบโอเอ็นเทค ปรากฎครั้งแรกในเว็บไซต์ Caixin Media สื่อเชิงสืบสวนที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ระบุว่าวัคซีน mRNA จะถูกใช้เป็น 'บูสเตอร์' เพื่อกระตุ้นภูมิให้แก่ประชาชนที่ฉีดวัคซีนผลิตในประเทศจีนไปแล้วครบ 2 เข็ม แต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อย ซึ่งจะทำให้มีแนวโน้มติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เดลตา ง่ายกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA 

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่ประชาชนไปแล้ว 40% หรือประมาณ 630 ล้านคน และตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ของประชากรทั้งหมดภายในสิ้นปี 2564 แต่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดหนักในเอเชีย ทำให้หลายประเทศพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีน mRNA เช่น ตุรกี, บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยประเทศเหล่านี้ใช้วัคซีนหลักเป็นวัคซีนเชื้อตายที่ผลิตโดยจีน ได้แก่ ซิโนแวคและซิโนฟาร์ม

ตั้งเป้าผลิตวัคซีน mRNA ในจีน ปีละพันล้านโดส

SCMP รายงานด้วยว่า บริษัทฝอซุนฯ ร่วมทุนในสัดส่วน 50:50 กับบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี และเริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตในจีนเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าว่าโรงงานจะมีกำลังผลิตวัคซีนอย่างน้อย 1,000 ล้านโดสภายในสิ้นปี โดยฝอซุนเป็นผู้ลงทุนด้านโรงงาน และไบโอเอ็นเทคจะดำเนินการเรื่องใบอนุญาตผลิตและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา บริษัทฝอซุนเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีนไบโอเอ็นเทคเพื่อใช้ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า ในชื่อแบรนด์ Comirnaty ซึ่งรัฐบาลฮ่องกงอนุมัติให้ฉีดแก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ ขณะที่วัคซีนซิโนแวคที่ถูกใช้เป็นวัคซีนทางเลือก อนุมัติให้ฉีดแก่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

ส่วนบริษัทไบโอเอ็นเทค ร่วมทุนกับบริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐอเมริกา ผลิตวัคซีน mRNA ภายใต้ชื่อแบรนด์ ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และเป็นวัคซีนที่ได้รับการประเมินว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลตาได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆ ในขณะนี้