Skip to main content

ในยามที่โควิด19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก จนทำคนไทยเจ็บป่วยล้มตายจำนวนมาก ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายนี้ ยังคงมีอีกหนึ่งสิ่งที่พรากชีวิตคนไทย ไปแล้วอย่างมากมายมหาศาล นั่นก็คือ #อุบัติเหตุทางถนน 

เวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบซูม "โควิด19 VS Road Safety ภัยในโลกคู่ขนานบนเกาะภูเก็ต" จัดโดย สสส. ผ่านแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) 

พญ.เหมือนแพร บุญล้อม’ นายแพทย์ชำนาญพิเศษ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า มีนักท่องเที่ยวเข้ามายังเกาะภูเก็ต เฉลี่ย 300-500 ต่อวัน ซึ่งการท่องเที่ยวภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ส่วนใหญ่จะมาในลักษณะเป็นครอบครัว หรือคนที่ตั้งใจมาอยู่ยาว และบางส่วนเป็นคนที่กลับมาหาครอบครัวในประเทศไทย ด้วยข้อจำกัดภายใต้สถานการณ์โควิด ทำให้นักท่องเที่ยวต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงคาดว่าตัวเลขอุบัติเหตุไม่น่าจะสูงขึ้นในช่วงนี้ ตามปกติบริบทการท่องเที่ยวในเมืองภูเก็ต ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มฝรั่งมักจะเช่ามอเตอร์ไซค์ขับเที่ยว พร้อมดื่มเหล้าไปด้วย ทำให้เกิดอุบัติเหตุเยอะพอสมควร ส่วนชาวเอเชียมักจะมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ เดินทางแบบเช่าเหมารถบัส รถตู้ กลุ่มนี้หากเกิดอุบัติเหตุ จะมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก 

"สำหรับการเกิดอุบัติเหตุในช่วงปกติ ก่อนหน้าการแพร่ระบาดโควิดนั้น ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็น 10% ของยอดรวม ที่เหลือเกิดขึ้นจากคนไทย จากพฤติกรรมการขับขี่ใช้ความเร็ว และปัจจัยเสริมสำคัญคือ “เมาแล้วขับ” ขนาดในช่วงโควิดที่การจราจรเบาบางลง แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังคงมากอยู่ ในปี 2562 ตายไป 120 ราย ส่วนสถิติล่าสุดในปีนี้ 2564 เพียงครึ่งปีสูญเสียไปแล้ว 60 ราย" พญ.เหมือนแพร กล่าว 

พญ.เหมือนแพร บอกว่า เนื่องจากเมืองภูเก็ตมีโมเดลความร่วมมืออันดี ระหว่างผู้ประกอบการเอกชน เครือข่ายสมาคม และหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้ามาช่วยกันในทุก ๆ เรื่อง ทั้งการจัดการอุบัติเหตุ และรับมือสถานการณ์โควิด19 ทำให้ที่นี่สามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุบัติเหตุจราจรเป็นประเด็นสำคัญในภูเก็ต โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจดี แต่ทีมงานของเราก็คอยติดตามแก้ไข ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะนับเป็นความสูญเสียหนึ่ง เช่นเดียวกับการรับมือโควิด19 จึงไม่ต้องกังวลว่าในช่วงนี้ จะไปมุ่งเน้นเรื่องโรคระบาดอย่างเดียว เรายังคงเดินหน้างานป้องกันอุบัติเหตุ และดูแลรักษาผู้ป่วยทุกเคสอย่างเต็มที่ 

ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย และรองประธาน สอจร. กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวในภูเก็ตหายไป จากปีละ 14 ล้านคน เหลือเพียงหลักพัน ทำให้ภาพรวมยอดตายจากอุบัติเหตุลดลง 3% เนื่องจากกลุ่มต่างชาติที่เข้ามา ส่วนมากจะเช่ามอเตอร์ไซด์สำหรับเดินทาง แต่ส่วนใหญ่ไม่มีทักษะขับขี่เชี่ยวชาญและชำนาญเส้นทาง ประกอบกับหลายประเทศขับชิดขวาส่วนเราขับชิดซ้าย จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

"สำหรับคนไทยเรานั้น สถิติการสวมหมวกกันน็อคในภูเก็ต ถือว่าอยู่ในอัตราที่พอใช้ได้ ประมาณ 60% แต่ในช่วงโควิดการตั้งด่านลดน้อยลง การบังคับใช้กฎหมาย และการตรวจจับก็เบาบางลงไปด้วย จากเดิมที่มีการจับปีละแสนกว่าๆ เหลือ 6 หมื่น โดยเฉพาะลดการตรวจด่านแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ตำรวจภูเก็ตได้หันไปเน้น การตรวจจับความเร็วและสวมหมวกกันน็อค ด้วยกล้องระบบ AI ที่ทั้งเกาะมีอยู่ 10 กว่าเครื่อง ก็ช่วยให้ผู้ขับขี่ลดใช้ความเร็วลงได้" นพ.วัฒน์ กล่าว 

นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต เราค้นพบว่า การสวมหมวกขอบผู้ขับขี่เพิ่มขึ้น มากกว่า 10% และจากการสำรวจความเห็น 70-80 % เห็นด้วย เพราะช่วยทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง ลดการเผชิญหน้าระหว่าง จนท. กับ ปชช. รวมถึงลดความไม่เท่าเทียมในการตรวจจับ เพราะเทคโนโลยีจับหมดทุกคันที่ฝ่าฝืนกฎจราจร ที่สำคัญตรวจจับได้ 24 ชม. จึงจำเป็นมากสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ควรพูดถึงแนวทางขยายผลสำเร็จไปทั่วประเทศ 

เรื่องอุบัติเหตุต้องทำงานข้ามหน่วยงาน ตำรวจ คมนาคม บ.กลาง ปภ. ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน เข้ามาประสานความร่วมมือ แก้ไขจุดเสี่ยง และสื่อสารให้ประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการขับขี่ที่เป็นอันตราย ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งนับว่าที่ภูเก็ตมีต้นทุนทางสังคม หรือ Social Capital ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ดีมาก เพราะทุกคนมองว่าการร่วมมือกันทำงานเป็นสิ่งที่ดี ที่ผ่านมาเราผจญกับภาวะเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนมานานมาก นับเป็นปัญหาเรื่อรัง ในภาวะปกติมีอัตราครองเตียง 1 ใน 3 ระบบสาธารณสุข รองรับกันจนปริ่มน้ำ ยิ่งในภาวะโควิดจำนวนเตียงไม่เพียงพอ ดังนั้น ต้องดำเนินมาตรการควบคู่กันไป การทำงานอุบัติเหตุต้องไม่ลดความสำคัญ หากวันนี้มอเตอร์ไซค์ทุกคัน สวมหมวกกันน็อคเหมือนกับใส่แมสก์ เราจะลดคนตายลงได้ไม่ต่ำกว่า ปีละ 7-8 พันคน