Skip to main content

สมยา สวาวินาทาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยืนยันว่าวัคซีนทุกชนิดที่ WHO รับรองการใช้งาน สามารถป้องกันการติดเชื้อและอาการป่วยรุนแรงได้ทุกตัว ออกมาเตือนครั้งใหม่ หลังมีรายงานว่าหลายประเทศกำลังพิจารณาว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบไขว้ชนิดกัน โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ WHO ระบุว่านี่เป็น "เทรนด์อันตราย" เพราะข้อมูลวิจัยและหลักฐานอ้างอิงมีอยู่น้อยมาก ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายโกลาหล ถ้าคนทั่วโลกจะหันมาเรียกร้องว่าตนเองต้องการวัคซีนชนิดใดเป็นเข็ม 2 หรือ 3-4

คำเตือนของสมยาเกิดขึ้นระหว่างการแถลงข่าวและตอบคำถามสื่อตะวันตก เมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา โดย Reuters รายงานด้วยว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่หน่วยงานรัฐประกาศว่าจะสลับฉีดวัคซีนโควิด หรือฉีดแบบไขว้ชนิด ซึ่งจะผสมผสานระหว่างวัคซีนของบริษัทซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสายพันธุ์นี้เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ติดต่อกันง่ายขึ้น ทั้งยังเกิดอาการรุนแรงยิ่งขึ้นในประชากรกลุ่มเสี่ยง แม้คนไทยที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้วก็ยังติดได้

หลายประเทศพิจารณาฉีดไขว้ วัคซีน mRNA ผสม Viral Vector

รอยเตอร์สรายงานว่า หลายประเทศก็เริ่มพิจารณาและอนุมัติแนวทางการทดลองสลับฉีดวัคซีนโควิดเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นการสลับฉีดวัคซีนชนิดสารพันธุกรรม หรือ mRNA กับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ หรือไวรัลเวกเตอร์ (Recombinant Viral Vector) เช่น เข็มแรกเป็น 'ไฟเซอร์' หรือ 'โมเดอร์นา' เข็มที่ 2 ใช้ 'แอสตร้าเซนเนก้า'

ประเทศที่พิจารณาสูตรฉีดวัคซีนแบบนี้ ได้แก่ แคนาดา เกาหลีใต้ อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โดยกรณีของแคนาดาพบว่า รัฐบาลท้องถิ่นในรัฐออนแทรีโอ ประกาศว่าจะฉีดวัคซีนโควิดผสมกันระหว่างเข็มแรกที่เป็นไวรัลเวกเตอร์ คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับเข็ม 2 ที่เป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เช่น ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค เพราะคณะกรรมการด้านสุขภาพของออนแทรีโออนุมัติการฉีดไขว้ดังกล่าวแล้ว โดยอ้างอิงข้อมูลการศึกษาวิจัยในห้องทดลองและการทดลองทางคลินิกในสหราชอาณาจักร สเปน และเยอรมนี

ไทย 'ประเทศแรก' เล็งฉีดวัคซีนเชื้อตาย สลับ Viral Vector

ส่วนกรณีของประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้รับรองแผนการสลับฉีดวัคซีนระหว่างซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า เมื่อ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา โดย 'ซิโนแวค' เป็นวัคซีนแบบเชื้อตายหรือ Inactivated Vaccine ขณะที่แอสตร้าเซนเนก้าเป็นแบบไวรัลเวกเตอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ และยังไม่พบข้อมูลว่ามีประเทศอื่นใดบ้างที่เตรียมผสมวัคซีน 'ซิโนแวค' กับ 'แอสตร้าเซนเนก้า' เหมือนกับประเทศไทย 

กรณีของภูฏาน มีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขว่ากำลังพิจารณาการฉีดสลับวัคซีน แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะใช้วัคซีนชนิดใดหรือยี่ห้อใดผสมกัน ขณะที่อินโดนีเซียกำลังพิจารณาฉีดวัคซีนเข็ม 3 เป็นบูสเตอร์ หลังใช้วัคซีนหลักจากจีน คือ ซิโนแวค ฉีดให้บุคลากรการแพทย์และประชากรบางส่วนจนครบ 2 เข็มแล้ว แต่ยังพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตหลายราย

ส่วนกรณีของรัสเซีย มีการเตรียมฉีดวัคซีนผสมระหว่างสปุตนิกวี ซึ่งผลิตในประเทศ และเป็นวัคซีนแบบไวรัลเวกเตอร์ หรือวัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ คู่กับวัคซีนที่ผลิตจากจีนและกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ไม่ได้มีการะบุว่าเป็นวัคซีนชนิดใด และรอยเตอร์สรายงานว่า ก่อนหน้านี้รัสเซียได้ทดลองฉีดวัคซีนผสมระหว่างแอสตร้าเซนเนก้ากับวัคซีนสปุตนิกวีมาก่อนแล้ว แต่ยังเป็นการฉีดเพื่อศึกษาวิจัย

หมอยงโพสต์ยืนยันข้อมูลวิจัยฉีดสลับวัคซีนในไทย ได้ผลดี 

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ซึ่ง 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของคณะกรรมการวิชาการด้านความปลอดภัยการใช้วัคซีนของกรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในประเทศไทยมีการสลับชนิดของวัคซีนมาโดยตลอด และเห็นว่า "การให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัส Vector จะกระตุ้นได้ดีมาก"

"การให้วัคซีนเชื้อตายที่เป็นทั้งตัวไวรัส เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทาน เมื่อกระตุ้นด้วยต่างชนิดโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า booster effect เหมือนกับคนที่หายแล้วจากโรคโควิด 19  และได้รับวัคซีนเสริมอีก 1 ครั้ง ก็จะมีการกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็ได้ทำการทดลองแล้ว" 

นอกจากนี้ โพสต์ของ นพ.ยงยังระบุด้วยว่า "ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกในบันทึกในหมอพร้อมมีมากกว่า 1, 200 ราย โดยที่ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด" และย้ำว่า "ผมเองท้อใจหลายครั้งที่ไม่อยากจะมาโพสต์ให้ความรู้ และมีการหยุดเป็นครั้งคราว แต่ก็มีผู้ทักท้วงมาเป็นจำนวนมาก ว่าถ้าหยุดก็จะเข้าทางของผู้ไม่หวังดี ผมเองมุ่งทำการศึกษาวิจัยมาเกือบ 40 ปี เพื่อให้ความรู้กับชาวโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย เพราะเผยแพร่ในวารสารนานาชาติมาตลอด" 

วัคซีนโควิดในขณะนี้มี 4 ชนิด

ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกรับรองวัคซีนป้องกันโควิดบางส่วนให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน และบางส่วนยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองและพัฒนา แบ่งออกเป็น 4 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

1.วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม (messenger RNA) หรือ mRNA

เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ คือการสังเคราะห์สารพันธุกรรมเอ็มอาร์เอ็นเอ (messenger RNA: mRNA) ของเชื้อไวรัส ซึ่งจะใช้วัคซีนนี้เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อ  เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งข้อมูลของ WHO ประเมินว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ประมาณ 95% ป้องกันการป่วยรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% 

2.วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant Viral Vector Vaccine) หรือ ไวรัลเวกเตอร์

เป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสซึ่งสามารถตัดแต่งพันธุกรรม เช่น ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) มาดัดแปลงพันธุกรรมให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ และใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 ลงไปด้วย เมื่อนํามาฉีด ไวรัสพาหะเหล่านี้จะเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งระบบให้สร้างแอนติบอดีย์ต่อไวรัสโรคโควิด19 ตามสารพันธุกรรมที่ใส่เข้าไป เช่น วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่ง WHO ประเมินว่ามีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 70-80% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% รวมถึงวัคซีนแคนซิโนของบริษัท CanSinoBio จากจีน มีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 60% และวัคซีนของ Johnson and Johnson มีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 64-72% 

3.วัคซีนที่ทําจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Caccine)

เป็นวัคซีนชนิดที่สร้างโปรตีนของเชื้อไวรัส แล้วนํามาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนตีบอดีต้านโปรตีนสไปค์ของไวรัสโคโรนา และเป็นวัคซีนที่ทั่วโลกคุ้นเคยกันดี เพราะใช้ในการผลิตวัคซีนหลายชนิด เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ส่วนวัคซีนโควิดที่ผลิตด้วยวิธีนี้ ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Novavax และมีผลศึกษาวิจัยประสิทธิภาพ ระบุว่าสามารถป้องกันอาการโรคโควิดได้ประมาณ 60-90% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%

4.วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine)

เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยนําไวรัสโคโรนา 2019 มาทำให้เป็นเเชื้อตาย และนำไปฉีดกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสทุกส่วน เปรียบได้รับการรับเชื้อไวรัสโดยตรง แต่ไม่ทำให้เกิดโรค เพราะเป็นเชื้อที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ป้องกันไวรัสหลายชนิดมาก่อนแล้ว เช่น วัคซีนตับอักเสบเอและโปลิโอชนิดฉีด โดย วัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Sinovac มีประสิทธิภาพป้องกันอาการประมาณ 50-70% ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%