Skip to main content

ผุสดี บอกด้วยว่า ช่วงเวลาที่ออกมาประท้วงตอนนั้น ประเมินศัตรูต่ำไป เพราะคิดว่าทำเพื่อให้ประเทศดีขึ้น ไม่ได้คิดร้ายต่อใคร การตอบโต้จึงเล็กน้อยแค่ป้องกันตัว อีกทั้งตอนนั้นยังหลงสู้ผิดตัว และช่วง 10 เม.ย. 2553 กำลังเสื้อแดงยังแกร่งมาก ถ้าจะก่อการร้ายจริง กรุงเทพฯ คงเป็นทะเลเพลิงแล้ว แต่ทุกคนอดกลั้นความแค้น เพราะที่ออกมาเสี่ยงเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้นไม่ใช่เพื่อทำลายแผ่นดินเกิด จึงใช้สันติวิธีต่อไป จนถูกสลายอีกหลายครั้ง

และถึงแม้จะแพ้ แต่สันติวิธีทำให้พวกตนไม่ใช่ผู้ทำลายประเทศ คนเสื้อแดงถูกกล่าวหา มีคดีติดคุก บาดเจ็บล้มตาย แต่ยังยืดอกเชิดหน้าประกาศความเป็นเสื้อแดงได้อย่างภาคภูมิ ผิดกับกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงที่วันนี้มีใครกล้าประกาศตัวเองบ้าง

"ส่วนคนที่คิดจะลุย จะเอาอะไรสู้เขา ถ้าคุณใช้ระเบิดขวด ระเบิดปิงปอง ถ้าเขาอยากจบเร็วเขาก็แจกลูกปืนกล สไนเปอร์ให้ ถ้าไม่สามารถพังเขื่อน ระเบิดโรงไฟฟ้า ถล่มคลังแสงทหาร ระเบิดท่อส่งแก็ส อะไรแบบนี้ได้ เลิกคิดเรื่องความรุนแรงในยามคนร่วมชุมมนุมน้อยนิดไม่ถึง 1% ของประชาชน" ซึ่งถ้าหากมีคนคิดแบบข้างต้นแล้วจะชนะ ผุสดีบอกว่า แพ้แล้วตายกันหมดดีกว่า เพราะจะมีคนสูญเสียแค่เรา คนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐแบบเรา เขาไม่ได้ทำอะไรผิด ที่จะต้องมาสูญเสียด้วย

หลังจากผุสดีเผยแพร่ข้อความดังกล่าวได้มีชาวทวิตเตอร์เข้าไปแสดงความคิดเห็นขอให้ผุสดีเป็นกุนซือแนะนำลูกหลาน แต่ผุสดีตอบกลับว่า ตนไม่ได้ฉลาดขนาดนั้น แค่เล่าความผิดพลาดไว้เตือนใจกัน พร้อมแนะนำว่า คนหนุ่มสาว อาจารย์และผู้รู้ทั้งในและนอกประเทศ ถ้าหันหน้าระดมสมอง เลิกจิกกัดกันเองด้วยเรื่องหยุมหยิม ก็น่าจะไปได้ดี

::: คนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการประท้วงรัฐบาลอำนาจนิยมทั่วโลก :::

ในเวลาไล่เลี่ยกับที่ 'ผุสดี' ทวีตข้อความเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันหลักในประเทศไทย สื่อต่างประเทศอย่าง 'The Guardian' ก็ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ออกมารวมตัวต่อต้านรัฐบาลในประเทศตนเอง ซึ่งรวมถึงกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

เดอะการ์เดียนประเมินว่า การประท้วงต่อรัฐบาลในยุคนี้แตกต่างจากอดีตเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว เพราะผู้ชุมนุมมีช่องทางติดต่อสื่อสารและช่องทางแสดงเจตจำนงของตัวเองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีอยู่มากมายในยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับการเผยแพร่ข้อมูลที่คัดง้างกับการครอบงำเพียงด้านเดียวจากหน่วยงานภาครัฐทำได้อย่างกว้างขวางขึ้น ทำให้การปิดกั้นข้อมูลของรัฐที่เคยเกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา ไม่อาจทำได้โดยง่ายในยุคปัจจุบัน

ด้วยเหตุนี้ การเคลื่อนไหวต่อต้านหรือยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงไม่มีทางปราบปรามได้อย่างเด็ดขาด แม้จะมีการใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเผยแพร่ความคิดและออกมารวมตัวต่อต้านด้วยวิธีการที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยยกตัวอย่างการปรับขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกง เมียนมา รัสเซีย เบลารุส รวมถึง 'ไทย' ซึ่งแม้จะมีผู้นำขบวนถูกจับกุมหรือตั้งข้อหา ก็ยังมีคนออกมาชุมนุมบนท้องถนนหรือแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มากเท่าเดิม แต่ก็ไม่ถูกสลายจนหายไป

อย่างไรก็ตาม เดอะการ์เดียนมองว่าข้อเรียกร้องจากรัฐบาลต่างประเทศ หรือแม้แต่องค์การระหว่างประเทศ จะไม่มีผลมากนักในการกดดันรัฐบาลอำนาจนิยมหรือรัฐบาลเผด็จการที่ยังอยู่ในอำนาจ เพราะรัฐบาลเหล่านี้มักจะให้ความสนับสนุนกันเอง เช่น การส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ในการปราบปรามผู้ชุมนุม การอ้างเอกสิทธิ์คุ้มครองและนโยบายทางการทูตไม่ให้เกิดการกดดันในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้เป้าหมายของผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลกเปลี่ยนจากการยื่นข้อเสนอที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะทำได้จริงมาเป็นการเรียกร้องให้รัฐยืนยันและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่ถูกระบุเอาไว้ตามกฎหมายแทน