เพลง Take Me Home, Country Roads เป็นเพลงคันทรีซึ่งโด่งดังอย่างมากในสหรัฐอเมริกายุคทศวรรษ 1970 และเนื้อหาของบทเพลงยอดฮิตนี้คือการบอกเล่าความสุขของคนที่กำลังเดินทางกลับบ้านนอกเขตเมืองใหญ่ โดย 'บิล แดนอฟ' หนึ่งในผู้แต่งเนื้อร้อง-ทำนองของเพลงนี้ให้สัมภาษณ์สื่อว่าเขาแต่งมันขึ้นมาร่วมกับ 'แทฟฟี นิเวิร์ต แดนอฟ' ภรรยาในขณะนั้น ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมวง Fat City บนเส้นทางจากกรุงวอชิงตันดีซีเพื่อกลับบ้านต่างรัฐ
แม้ถนนที่พาเขากลับบ้านจะมุ่งไปยังรัฐแมรีแลนด์ แต่ชื่อรัฐเวสต์เวอร์จิเนียเข้ากับเนื้อหาของเพลงมากกว่า พวกเขาจึงใช้ชื่อรัฐนี้แทนแมรีแลนด์ และหลังจากที่เพลงนี้ขึ้นท็อปชาร์ตในสหรัฐฯ ก็กลายเป็นเพลงประจำรัฐเวสต์เวอร์จิเนียอย่างไม่เป็นทางการอยู่นานหลายสิบปี ก่อนจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในปี 2557 และแดนอฟให้สัมภาษณ์ว่าเวลาทีมบาสเกตบอลจากรัฐเวสต์เวอร์จิเนียเอาชนะทีมจากรัฐแมรีแลนด์ก็มักจะร้องเพลงเทคมีโฮม คันทรีโรดส์ ที่เขาร่วมแต่ง จึงเป็นเรื่องย้อนแย้งและชวนให้เจ็บใจอยู่เล็กน้อยทุกครั้งที่ได้ยิน
แดนอฟเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาและอดีตภรรยาตั้งใจแต่งเพลงนี้ไปนำเสนอแก่ 'จอห์นนี แคช' นักร้องนักดนตรีอีกคนหนึ่งซึ่งโด่งดังระดับตำนานในช่วงนั้น แต่ 'จอห์น เดนเวอร์' ซึ่งช่วงปลาย ค.ศ.1969 ยังไม่ได้กลายเป็นนักร้องดัง แถมยังเพิ่งออกจากมหาวิทยาลัยมาเป็นนักดนตรีได้ไม่นาน แสดงความสนใจและร่วมแต่งท่อนบริดจ์ของเพลง พร้อมกับนำไปร้องตามสถานีวิทยุและงานมหกรรมดนตรีต่างๆ จนได้ออกอัลบัมในปี 1970 และเพลงนี้ได้กลายเป็นที่นิยมจนติดอันดับต้นๆ ชาร์ตเพลงคันทรีในสหรัฐฯ ขณะนั้น ส่งผลให้เดนเวอร์กลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งแห่งยุค
แม้จะโด่งดังจากเพลงถนนสายกลับบ้านที่อยู่นอกเขตเมืองใหญ่ แต่เดนเวอร์ถูกจดจำผ่านสื่อว่าเป็นคน 'มือหนัก' ในการใช้จ่ายสร้างความสุขและสะสมทรัพย์สินหรูหราจำนวนมาก ทั้งรถยนต์ แมนชันและที่ดินหลายแห่ง รวมถึงเครื่องบินส่วนตัวหลายรุ่น ซึ่งอย่างหลังสุดเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิตอย่างกะทันหันในวันที่ 12 ต.ค.2540 เพราะเครื่องบินที่เขาขับตกลงที่มอนเทอรีย์เบย์ แม้ก่อนหน้านั้นเดนเวอร์จะเป็นนักบินคนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์บินมาแล้วกว่า 2,700 ชั่วโมง แต่อาจเป็นเพราะเขาเพิ่งขับเครื่องบินรุ่นดังกล่าว (Long EZ) ได้ไม่กี่ครั้ง เมื่อเครื่องขัดข้อง เขาจึงสูญเสียการควบคุมจนเครื่องตกกระแทกพื้น
(ภาพ:"John Denver statue" by josecdimas is licensed under CC BY 2.0)
เดนเวอร์เสียชีวิตในวัยเพียง 53 ปี และตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาเคยบอกว่าถ้าตัวเองตายจะยกทรัพย์สินให้กับมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมและองค์กรการกุศลที่เขาก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือด้านการขาดแคลนอาหาร แต่เนื่องจากเขาไม่ได้ทำพินัยกรรมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร อดีตภรรยาของเขา 'แอนนี มาร์เทล' จึงเข้ามาเป็นผู้ดูแลมรดก และจัดการแบ่งสมบัติให้ลูกของเขาทั้ง 3 คนโดยเท่าเทียมกัน และเพลงของเขายังคงสร้างรายได้แม้ตัวเองจะเสียชีวิตไปแล้ว โดยเฉพาะเพลงเทคมีโฮม คันทรีโรดส์ ที่ยังคงถูกเล่นอยู่บ่อยๆ ในงานต่างๆ มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนสาเหตุที่เพลงนี้กลายเป็นประเด็นข่าวในเมืองไทยเกิดขึ้นหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำชื่อเพลงมากล่าวติดตลกระหว่างแถลงข่าวเรื่องสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด และอาการร่าเริงยิ้มแย้มของผู้นำรัฐบาล สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรับมือโควิดที่กลับไป-กลับมา และข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันเองในหน่วยงานภาครัฐแต่ละแห่ง สร้างความสับสนและทำให้ผู้คนไม่สามารถวางแผนจัดการชีวิตได้ล่วงหน้า
เพลงเทคมีโฮม คันทรีโรดส์ ที่หมายถึงถนนมุ่งสู่นอกเมืองที่จะพาเรากลับบ้าน จึงเหมือนดังคำทำนายล่วงหน้า เพราะทันทีที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเวลาตีหนึ่งของวันที่ 27 มิ.ย. ระบุให้ปิดสถานที่ก่อสร้าง ห้ามรับประทานอาหารในร้าน ห้ามรวมกลุ่มสังสรรค์ ห้ามจัดงานเลี้ยงรื่นเริง และห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ห้ามนั่งรับประทานในร้าน ให้ซื้อกลับได้เท่านั้น คนจำนวนมากก็พากันทยอยออกนอกเมืองเพื่อกลับบ้านต่างจังหวัดในฐานะ 'ที่พึ่งสุดท้าย'
แม้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งจะประณามผู้ที่ทยอยกลับบ้านเพราะคำสั่งปิดกิจการและสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ตามคำสั่งของรัฐบาลที่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาชัดเจน แต่ก็มีผู้ใช้เน็ตจำนวนมากเช่นกันที่ตอบโต้กลับด้วยการย้ำบริบทว่าการพำนักในแคมป์ก่อสร้างโดยไม่มีงานและไม่มีค่าแรงนั้นไม่ใช่สิ่งจะทำกันได้ ทั้งเงื่อนไขสภาพอากาศที่ร้อนระอุและความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสจากการต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด
ส่วนเจ้าของกิจการร้านอาหารและกิจการบางส่วนที่เพิ่งจัดหาวัตถุดิบมาเตรียมไว้ เพราะเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มิ.ย.รัฐบาลยังบอกว่าไม่ล็อกดาวน์ ก็โต้กลับเสียงวิจารณ์เช่นกันว่า สถานการณ์แบบนี้ ถ้ายังมีบ้านให้กลับไปพึ่งพิงก็ถือว่าดีมากแล้ว แต่อีกหลายคน "อาจไม่เหลือบ้านให้กลับไป" เช่นเดียวกับผู้ที่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 ก็ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านเช่นกัน