Skip to main content

รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช บอกว่า การสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมจะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศได้ เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ขณะที่บางสถานการณ์ขาดแคลนอุปกรณ์ ดังนั้น การจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนได้

การจัดตั้ง “วชิรแล็บ” ให้เป็นห้องปฏิบัติการกลางเพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การวิเคราะห์และทดสอบแบบครบวงจร (one-stop-service laboratory) โดยใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยในการทดสอบคุณสมบัติสำคัญที่สามารถชี้บ่งถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำ และรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในระดับสากล ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กับ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลก

ด้าน ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ระบุว่า การสร้างห้องปฏิบัติการกลางสำหรับให้บริการตรวจสอบหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดกาวน์ ระหว่างมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ IRPC จะเป็นส่วนสนับสนุนการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศ   ช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล สามารถควบคุมคุณภาพ ปริมาณการผลิต และความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ได้ในภาวะวิกฤต

ขณะที่ ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เสริมว่า การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์  ถือเป็นก้าวสำคัญที่ผลักดันให้ IRPC เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทางการแพทย์อย่างเต็มตัว เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงและเข้มแข็งทางด้านสาธารณสุขให้กับประเทศไทย คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในปี 2564
โดยจะนำเข้าเครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบที่มีประสิทธิภาพ ให้ผลการทดสอบที่ถูกต้องและแม่นยำตามมาตรฐาน เช่น มอก. 2424 – 2562 สำหรับหน้ากากอนามัยและ มอก. 2480 – 2562 สำหรับหน้ากาก N95 ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐาน ASTM และ EN ในต่างประเทศ และมาตรฐาน ANSI/AMMI PB70:2012 สำหรับเสื้อกาวน์ทางการแพทย์ (Surgical Gown) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้นำองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และด้านการแพทย์ของทั้งภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย มาใช้ในการบริหารจัดการให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล ถือเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรที่ได้มาตรฐานในประเทศไทยต่อไป