Skip to main content

สรุป

  • กอ.รมน.เผยข้อมูลโครงการก่อสร้างรั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เล่มที่ 1 งบกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม โดยจะใช้งบประมาณกว่า 640 ล้านบาท
  • การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่มีการจัดวงเสวนาออนไลน์เรื่องการใช้งบประมาณ และ ส.ส.ในพื้นที่ จ.นราธิวาส มองว่าโครงการรั้วชายแดนเป็นการทุ่มงบประมาณให้กับความมั่นคง แต่กลับปรับลดงบของหน่วยงานท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า
  • จากการสืบค้นเพิ่มเติมพบว่าทางการมาเลเซียได้รับข้อเสนอให้พิจารณาสร้างรั้วกั้นแนวชายแดนในรัฐปะลิสและเคดะห์ที่ติดกับ จ.สตูล, ด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลา และพื้นที่บางส่วนของ จ.ยะลา ซึ่งแนวพรมแดนเป็นเขตป่าที่มีการลักลอบก่อเหตุของกลุ่มอาชญากรมากกว่าพื้นที่ในรัฐกลันตัน ติดกับ จ.นราธิวาส ซึ่งทางการไทยเสนอให้สร้างรั้วกั้น 

เว็บไซต์ southpeace.co.th ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ได้เผยแพร่ข้อมูลเรื่อง "รั้วชายแดนไทย – มาเลเซีย เป็นแบบไหน ทำไมต้องมี สำคัญอย่างไร ? เรามีคำตอบ" เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2564 โดยแจกแจงว่านี่เป็นโครงการต่อเนื่อง แต่ในระยะเร่งด่วนจะดำเนินการก่อสร้าง 4 โครงการ ได้แก่

1.เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโก-ลก บริเวณเขต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระยะทาง 7.528 กิโลเมตร
2. ก่อสร้างรั้วตาข่ายเหล็กชายแดน สูง 2 เมตร ระยะทาง 15 กิโลเมตร
3. ก่อสร้างรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ (ติดตั้งกล้อง cctv) ตามแนวชายแดนระยะทาง 6 กิโลเมตร
4. สร้างฐานปฏิบัติการชุดเฝ้าตรวจชายแดนไทย – มาเลเซีย จำนวน 3 ฐาน

การเผยข้อมูลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการจัดวงเสวนาออนไลน์เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งใช้ชื่อว่า “เดินหมาก ‘งบประมาณ’ กันอย่างไร...ในยามคนไทยโดนรุกฆาต” โดยสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ซึ่งผู้ร่วมการเสวนามองว่าควรปรับลดงบประมาณด้านความมั่นคงลงไปบ้าง พร้อมวิจารณ์โครงการก่อสร้างรั้วชายแดนกั้นไทย-มาเลเซียว่าเป็นการนำงบไปลงที่กรมโยธาธิการเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ได้รับผลประโยชน์โดยมากคือบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง

ผู้เสนอความคิดเห็นดังกล่าว คือ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.พรรคประชาชาติ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ในโครงการรั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย โดย ส.ส.กมลศักดิ์เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณในวงเงินกว่า 640 ล้านบาท ทั้งยังเป็นงบผูกพัน 3 ปี สวนทางกับงบหน่วยงานท้องถิ่น เช่น ส.อบต.ที่ถูกตัดลดลง ทั้งที่หน่วยงานดังกล่าวมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระบุว่า การก่อสร้างรั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย เป็นมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อป้องกันเฝ้าตรวจบริเวณแนวชายแดน เป็นการสกัดกั้นจำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงการหลบหนีเข้าเมือง การนำเข้าอุปกรณ์ อาวุธและการสนับสนุนต่าง ๆ ในการก่อเหตุ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันชายแดน

นอกจากนี้ยังจะ "แก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ รวมถึงป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ผ่านผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สามารถพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต และตอบสนองความต้องการของประชาชน ในการแก้ไขปัญหา" 

ท่าทีฝั่งมาเลเซียต่อรั้วกั้นชายแดนสองประเทศ 

การหารือความร่วมมือในการก่อสร้างรั้วกั้นชายแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย เป็นประเด็นที่รัฐบาลทั้งสองประเทศเจรจากันมาหลายปีแล้ว แต่เนื่องจากมาเลเซียมีการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และนำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ยังไม่อาจหาข้อยุติเรื่องโครงการก่อสร้างรั้วชายแดนได้ 

จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทั้งรัฐบาลไทยและมาเลเซียต่างสั่งเฝ้าระวังการข้ามพรมแดนของประชากรสองฝั่งอย่างเข้มงวดกวดขันมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งไทยที่ตรวจพบชายเจ้าของธุรกิจซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากมาเลเซียติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์เบต้า (สายพันธุ์แอฟริกา) เมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียมีคำสั่งล็อกดาวน์-ปิดกั้นการเดินทางในหลายพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของเว็บไซต์ News Strait Times สื่อมาเลเซีย ระบุว่าหน่วยลาดตระเวนชายแดนเสนอให้รัฐบาลกลางมาเลเซียอนุมัติการก่อสร้างรั้วชายแดนในรัฐปะลิสและเคดะห์ ซึ่งติดด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลา รวมถึงจังหวัดสตูลและยะลาในฝั่งไทย เนื่องจากพบปัญหาการลักลอบขนสินค้าเถื่อน ลักลอบเข้าเมือง และค้ามนุษย์ โดยเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนชายแดนถูกกลุ่มอาชญากรยิงบาดเจ็บหลายรายแล้ว

โครงการรั้วกั้นชายแดน แต่เล็งสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งก่อน

เมื่อเทียบข่าวสารฝั่งมาเลเซีย จะพบว่าผู้เสนอให้สร้างกำแพงฝั่งมาเลเซียมีเป้าหมายคนละพื้นที่กับไทย เพราะโครงการที่ไทยระบุ จะถูกสร้างตามแนวชายแดน จ.นราธิวาส ซึ่งติดกับรัฐกลันตัน แต่ทางฝั่งมาเลเซียเสนอให้สร้างในรัฐเคดะห์และปะลิส เพราะเห็นว่าแนวพรมแดนรัฐกลันตันมีแม่น้ำโก-ลก กั้นอยู่เป็นพรมแดนธรรมชาติ ในขณะที่พื้นที่ในรัฐเคดะห์และปะลิสเป็นเขตป่าที่ควรได้รับการสอดส่องป้องกันมากกว่า

ส่วนข้อมูลของ กอ.รมน.ระบุว่า โครงการรั้วชายแดนที่จะดำเนินการในระยะเร่งด่วนลำดับ 1 คือ การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโก-ลก บริเวณเขตอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส ระยะทาง 7.528 กิโลเมตร โดยจะเป็นเขื่อนป้องกันตลิ่งแบบหินทิ้ง พร้อมระบุว่านี่คือรั้วที่ช่วยป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ไม่ให้หน้าดินหายไปในน้ำ และป้องกันน้ำท่วม