Skip to main content

อนถุรักษ์ ธนชัยศักดิ์ ผู้ออกแบบสร้าง อาคารระยองรวมใจพัฒน์ ศูนย์ตรวจโรคทางเดินหายใจแรงดันลบและศิริสุข อนุกูล หัวหน้าทีมวิศวกรก่อสร้างของไอร์อาร์พีซี  ระบุว่า ก่อนที่จะออกแบบก่อสร้างได้หารือ ร่วมกับทีมแพทย์ เพื่อออกแบบให้ตอบโจทย์การทำงานมากที่มากที่สุด ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาก่อสร้างภายใน 50 วันเท่านั้น "อาคารหลังนี้ออกแบบด้วยหลักการที่เรียกว่า Prototype โดยร่วมหารือกับคุณหมอ ทั้งการใช้งงานและการตรวจคนไข้ จึงตอบสนองการทำงานของ เจ้าหน้าที่ 100%" 

ห้องความดันลบ

การออกแบบอาคารตรวจคัดกรองโรค (Modular Diagnosis Room) จึงมีรูปแบบ One stop service ซึ่งประกอบด้วย ห้องแรงดันบวก และห้องแรงดันลบ (ห้องคลีนรูมแบบ Negative Pressure) โดยอากาศในห้องแรงดันลบ ถูกทำให้มีความดันต่ำกว่า จึงไม่ไหลออกจากห้อง เมื่อมีการเปิด-ปิดประตู ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่บริเวณอื่นในระหว่างการตรวจรักษา เพราะตามปกติ อากาศจะไหลจากพื้นที่ที่มีความดันอากาศสูงกว่าไปสู่พื้นที่ที่มีความดันอากาศต่ำกว่า

ห้องความดันลบ

ส่วนอาคารตรวจคัดกรองโรคประกอบด้วยห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝั่งแพทย์เป็นห้องแรงดันบวก และฝั่งผู้ป่วยเป็นห้องแรงดันลบ 3 ห้อง, ห้องงานเวชระเบียนแรงดันบวก 1 ห้อง, ห้องจ่ายยาแรงดันบวก 1 ห้อง, พื้นที่พักรอพร้อมห้องน้ำ 2 ห้อง ทั้งนี้ระบบกรองอากาศทั้งห้องความดันลบ และห้องความดันลบ จะใช้ EXHAUST  FAN ประกอบด้วย Filter อยู่ 3 ชนิด มี HEPA  Filter  เป็นชนิดที่สามารถดักจับเชื้อโรคทุกชนิด ได้กว่า 99.9% และมี UV ในการฆ่าเชื้อก่อนที่จะปล่อยออกไปนอกห้องดังนั้นอากาศที่ออกจากห้องตรวจจึงปลอดเชื้อ เพราะได้ฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว

ห้องความดันลบ
 
นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลระยอง บอกว่า อาคารตรวจคัดกรองโรคทางเดินหายใจความดันลบมีประสิทธิภาพสามารถรองรับจำนวนผู้ที่เข้ามาตรวจได้เป็นอย่างดี และยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทีมแพทย์ พยาบาล ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ได้มากขึ้นอีกด้วย อาคารตรวจคัดกรองโรคทางเดินหายใจความดันลบมีความจำเป็นในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์และผู้ป่วยทุกคนอย่างมาก ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ สร้างความมั่นใจให้แพทย์ พยาบาลสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  เพื่อผ่านวิกฤตินี้ไปได้