Skip to main content

ผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กรถไฟฟ้าบีทีเอส @BTSSkyTrain เผยแพร่ภาพและข้อความเตือนผู้โดยสาร ไม่อนุญาตให้นัดรับส่ง-ของบริเวณประตูทางเข้าและออกสถานี ช่วงบ่ายวันที่ 15 มิ.ย.2564 พร้อมย้ำเพิ่มเติม "หากต้องการส่งของ หรือรับของ สามารถแตะบัตรเข้า-ออก ให้อยู่ในเขตเดียวกัน สะดวกในการพูดคุย และไม่เป็นการกีดขวางผู้โดยสารท่านอื่นด้วยนะครับ"

เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่โพสต์ภาพและข้อความดังกล่าว มีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดแสดงความรู้สึกและแชร์ข้อความไปกว่า 1.1 หมื่นครั้ง ส่วนท้ายโพสต์มีผู้แสดงความเห็นเกือบหมื่นราย แต่ส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า บีทีเอสมีเหตุผลอะไรในการห้ามรับ-ส่งของบริเวณสถานี โดยผู้แสดงความเห็นจำนวนหนึ่งคาดเดาว่าบีทีเอสเป็นห่วงเรื่องความสะดวกและความปลอดภัยของผู้โดยสารที่ต้องการเข้าและออกสถานี เพราะการนัดรับ-ส่งของอาจกีดขวางทางผู้อื่นได้

ขณะที่ผู้แสดงความเห็นรายอื่นมองว่าผู้รับ-ส่งของส่วนใหญ่มักจะเลี่ยงไปเจรจากันบริเวณรั้วกั้นด้านข้างประตูเข้า-ออกหรือช่องขายตั๋ว ทั้งยังใช้เวลาไม่นาน จึงไม่น่าจะกีดขวางการเข้าออกสถานีของผู้โดยสารคนอื่นๆ และมีผู้ตั้งข้อสังเกตอีกจำนวนหนึ่งว่าบีทีเอสแนะนำให้แตะบัตรเข้า-ออกให้อยู่ในเขตเดียวกันน่าจะมีเหตุผลเกี่ยวกับรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากการที่ผู้นัดรับ-ส่งของจะแตะหรือไม่แตะบัตร 

ส่วนผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกจำนวนหนึ่งมองว่าถ้าบีทีเอสต้องการให้คนแตะบัตรโดยไม่คำนึงถึงการหารายได้เพิ่ม ควรผ่อนผันเรื่องค่าใช้จ่าย เช่น ไม่คิดเงินกรณีที่แตะบัตรเข้า-ออกสถานีเดิมภายในเวลาไม่กี่นาที เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบผู้ใช้บริการมากเกินไป โดยหลายคนมองว่าที่ผ่านมา บีทีเอสคิดค่าบัตรรวมสถานีรถไฟฟ้าที่ยังไม่เปิดบริการ แต่ผู้โดยสารไม่อาจเรียกร้องอะไรได้ เช่นเดียวกับที่รถไฟฟ้าขัดข้องหรือปิดให้บริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ก็ไม่ได้มีการเยียวยาผู้โดยสารอย่างทั่วถึงแต่อย่างใด 

รถไฟฟ้าสิงคโปร์ก็มีกฎห้ามแบบนี้ แต่ก็ยังมีคนทำอยู่

การออกกฎห้ามรับส่ง-ของข้ามเขตชำระเงินบริเวณรถไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่สิงคโปร์ก็เคยถกเถียงเรื่องนี้กันมาก่อน แม้ว่ากฎดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2530 แต่การติดต่อสื่อสารและการค้าส่วนบุคคลที่เติบโตขึ้นในยุคหลัง ทำให้มีการนัดรับ-ส่งของบริเวณรถไฟฟ้ากันมากขึ้นกว่าเดิม จนเป็นเหตุให้การรถไฟฟ้าสิงคโปร์ (SMRT) ติดป้ายเตือนผู้โดยสารเรื่องห้ามนัดรับ-ส่งของบริเวณประตูกั้นทางเข้าออกระหว่างพื้นที่นอกสถานีกับเขตชำระเงินในสถานี

เว็บไซต์ News Strait Times สื่อสิงคโปร์ รายงานว่ามีผู้สังเกตเห็นป้ายเตือนนี้ที่สถานีรถไฟฟ้า Beauty World เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2559 เพราะก่อนหน้านี้ผู้ที่ทราบเรื่องกฎดังกล่าวไม่ได้มีจำนวนมากนัก ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ แต่ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีการนัดรับ-ส่งของเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถานีขนาดใหญ่ที่มีผู้โดยสารเข้า-ออกเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้เจ้าหน้าที่ติดป้ายเตือนให้ชัดเจน 

ส่วน Today Online สื่ออีกแห่งหนึ่ง ระบุว่าเคยมีผู้ร้องเรียนให้ทางการสิงคโปร์ชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนเรื่องกฎห้ามรับ-ส่งของข้ามเขตชำระเงินบริเวณสถานีรถไฟฟ้า ทั้งยังมีผู้ที่เคยถูกปรับเงินจากการกระทำดังกล่าวมาแล้วเมื่อปี 2552 และ 2557 ซึ่งคณะกรรมการการขนส่งทางบก (LTA) ของสิงคโปร์อธิบายว่า กฎดังกล่าวมีขึ้นเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกของผู้โดยสาร และหากมีผู้รออยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าเป็นเวลานาน เจ้าหน้าที่ก็ต้องตรวจสอบเพื่อป้องกันเหตุน่าสงสัยหรือเหตุร้าย

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าในสิงคโปร์จำนวนหนึ่งยืนยันว่า การบังคับใช้กฎดังกล่าวแตกต่างกันไปตามสถานี เพราะยังมีผู้นัดรับ-ส่งของกันอยู่ในบางสถานีที่ไม่ได้มีผู้โดยสารมากนัก จึงเหมือนการผ่อนผันให้กระทำได้ในบางพื้นที่ ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับผู้โดยสารได้ ขณะที่ผู้รับ-ส่งของบางรายระบุว่าถ้าค่าบริการในการแตะบัตรเข้าสถานีไม่สูงนักก็พร้อมจะจ่ายเงินเข้าไป เพราะไม่อยากละเมิดกฎ แต่ก็มองว่าวิธีนี้ไม่ได้ช่วยลดจำนวนผู้โดยสารที่แออัดในสถานี ทั้งยังเพิ่มเวลาในการรับ-ส่งของแต่ละครั้ง เพราะการที่ต้องแตะบัตรเข้าและออกใช้เวลานานกว่าการยื่นของข้ามเขตชำระเงิน