Skip to main content

เจ้าหญิงกาตารีนา-อามาลียา รัชทายาทลำดับที่ 1 ราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซาแห่งประเทศเธอร์แลนด์ ทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2564 หลังจากนั้น พระองค์ได้ทรงเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงมาร์ก รึตเตอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ เพื่อปฏิเสธเงินสนับสนุนราชวงศ์ราว 1.6 ล้านยูโร (ประมาณ 59.2 ล้านบาท) ซึ่งพระองค์ทรงมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย ทันทีที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 18 ชันษาในเดือน ธ.ค.ปีนี้ 

จดหมายลายพระหัตถ์ของเจ้าหญิงอามาลียา ถูกนำไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ NOS สื่อของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ โดยรายงานว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สมาชิกระดับสูงของราชวงศ์ทรงไม่ขอรับเงินสนับสนุนรายปีจากรัฐบาล

ส่วนเนื้อหาในจดหมายเจ้าหญิงอามาลียา ทรงระบุว่า พระองคไม่สบายพระทัยที่ต้องรับเงินสนับสนุนจากรัฐ โดยที่ยังไม่สามารถทำอะไรเพื่อเป็นการตอบแทนได้ในขณะนี้ ทั้งยังมีเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมากที่อยู่ในภาวะยากลำบากเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากนี้ พระองค์ตั้งพระทัยว่าจะใช้เวลา 1 ปีเพื่อไปสำรวจโลก ก่อนจะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

https://cdn.nos.nl/image/2021/06/11/751188/1920x1080a.jpg

จดหมายสะท้อนวิธีคิดราชวงศ์ยุคใหม่

ข้อมูลอื่นๆ ที่ปรากฏในเว็บไซต์ NOS ระบุว่า เงินสนับสนุนราชวงศ์รายปีที่เจ้าหญิงอามาลียาจะได้รับโดยอัตโนมัติเมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ 18 ชันษา แบ่งเป็นรายได้ส่วนพระองค์ 300,000 ยูโร (ประมาณ 11 ล้านบาท) และอีก 1.3 ล้านยูโรจะเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเสด็จไปเข้าร่วมในพระราชพิธีหรือปฎิบัติพระกรณียกิจต่างๆ ในราชวงศ์ โดยเจ้าหญิงอามาลียาทรงระบุว่าจะไม่ขอรับเงินดังกล่าวจนกว่าพระองค์จะเรียนจบระดับอุดมศึกษา และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหญิงรัชทายาท

ด้าน 'มาร์ก รึตเตอ' นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ นำจดหมายดังกล่าวไปแสดงต่อที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากการอภิปรายเรื่องงบประมาณสนับสนุนราชวงศ์เป็นประเด็นที่ต้องพูดคุยกันทุกปี และเมื่อปีที่แล้วก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสภาว่างบประมาณสนับสนุนราชวงศ์จะเพิ่มสูงขึ้นเพราะปีนี้จะเป็นปีที่เจ้าหญิงอามาลียาทรงมีพระชนมายุครบ 18 ชันษา 

การตัดสินพระทัยของเจ้าหญิงอามาลียาถูกวิเคราะห์ผ่านสื่อว่าเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิดที่เปลี่ยนไปในหมู่สมาชิกราชวงศ์ยุคเดิม เพราะก่อนหน้านี้ราชวงศ์อังกฤษก็เคยเป็นประเด็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกหลังเกิดความเปลี่ยนแปลงในราชวงศ์เพราะเจ้าชายแฮร์รี่และพระชายา 'เมแกน มาร์เคิล' ที่สละยศชั้นเจ้าฟ้า และออกมาให้สัมภาษณ์สื่ออเมริกันพาดพิงราชวงศ์วินด์เซอร์แห่งอังกฤษ

"File:Protest in 2020 Democracy Monument (I).jpg" by This Photo was taken by Supanut Arunoprayote. Feel free to use any of my photos, but please mention me as the author and may send me a message. (สามารถใช้ภาพได้อิสระ แต่กรุณาใส่เครดิตผู้ถ่ายและอาจส่งข้อความบอกกล่าวด้วย) Please do not upload an updated image here without consultation with the Author. The author would like to make corrections only at his own source. This ensures that the changes are preserved.Please if you think that any changes should be required, please inform the author.Otherwise you can upload a new image with a new name. Please use one of the templates derivative or extract. is licensed under CC BY 4.0
สถาบันกษัตริย์ VS คนรุ่นใหม่ ช่วงวัย 18-30 ปี

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Reuters รายงานว่าประชาชนอังกฤษในช่วงอายุ 18-24 ปี ตอบแบบสอบถาม yougov ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าผู้สนับสนุนให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 26% ของผลสำรวจเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็น  41% จากการสำรวจล่าสุด ซึ่งจัดทำหลังจากเจ้าชายฟิลิป พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สิ้นพระชนม์เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และสมเด็จพระราชินีฯ ทรงมีพระชนมายุ 95 พรรษา

เช่นเดียวกับผลสำรวจความเห็นประชาชนนิวซีแลนด์ ซึ่ง NewsHub รายงานว่า คนวัยเกิน 60 ปีเกินครึ่งยังคงสนับสนุนให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นประมุขแห่งนิวซีแลนด์ต่อไป ในฐานะสมาชิกเครือจักรภพอังกฤษ แต่คนรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 18-30 ปี คิดเป็น 59% ของสนับสนุนให้นิวซีแลนด์ปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการในอนาคต

ส่วนความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยถูกรายงานผ่านสื่อต่างประเทศจำนวนมากในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลหลายแห่งระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เยาวชนและประชาชนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพิ่มขึ้นด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงกฎหมายด้านความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะกระทบต่อสิทธิในการแสดงออกและการใช้สิทธิชุมนุมทางการเมืองของประชาชน