Skip to main content

ที่พรรคไทยสร้างไทย โภคิน พลกุล, วัฒนา เมืองสุข พรรคไทยสร้างไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าว แสดงจุดยืนต่อการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องพรรคร่วมฝ่ายค้านผลักดัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง อย่าได้หลงประเด็นไปกับการแก้รายมาตรา ที่ไม่ได้ขจัดการสืบทอดอำนาจ  หรือเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของพรรคตนในการเลือกตั้งเป็นสำคัญ

คุณหญิงสุดารัตน์ เมื่อครั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 และผลักดันจนสภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2562 และเสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย. 2563

คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยก็ได้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่โภคิน เสนอต่อคณะกรรมาธิการเพื่อผลักดันให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจำนวน 200 คน เป็นองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นด้วย ขณะเดียวกัน พรรคร่วมรัฐบาลรวมถึงภาคประชาชนก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญทำนองเดียวกันต่อรัฐสภาจนเสร็จสิ้นในวาระ 2 แต่ ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐกลับไปยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจนมีคำวินิจฉัยว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าวทำไม่ได้ถ้าไม่ถามประชามติจากประชาชนเสียก่อน

ไทยสร้างไทย

โภคิน พลกุล 

คุณหญิงสุดารัตน์และพรรคไทยสร้างไทยได้เสนอขอให้รัฐสภาเลื่อนการลงมติในวาระ 3 ไปก่อน เพื่อรอการทำประชามติซึ่งสามารถทำได้เลย เพราะกฎหมายประชามติตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ หรือจะรอกฎหมายประชามติตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รัฐสภากำลังพิจารณาอยู่ก็ได้ แต่รัฐสภาก็ได้ลงมติไปโดยสมาชิกวุฒิสภาและ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเกือบทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 1 และวาระ 2 มาแล้ว ขณะเดียวกัน สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการชะลอการลงมติในวาระ 3

การเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้จึงเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากต้องการแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้งเป็นหลัก ผนวกกับการให้ ส.ส. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณได้ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบและให้เหตุผลโดย มีชัยและคณะว่าเพื่อให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย จึงใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ให้มี ส.ส. เขต 350 คน ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน ทั้งห้าม ส.ส. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณโดยเด็ดขาด จึงเป็นการไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และต้องการแก้ไขเฉพาะประเด็นที่พรรคการเมืองใหญ่จะได้เปรียบในการเลือกตั้ง ซึ่งตรงข้ามกับเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ และใช้มาได้เพียง 2 ปีกว่าเอง ส่วนการแก้ไขรายมาตราที่เพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ทำเพียงเพื่อให้ดูดีเท่านั้น

พรรคไทยสร้างไทยขอยืนยันว่าต้องการมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ตามร่างที่โภคิน ได้เสนอไว้ต่อคณะกรรมาธิการฯ และพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เห็นชอบจนผ่านวาระ 1 และวาระ 2 ของรัฐสภาแล้วเป็นหลัก และหากจะมีการแก้ไขรายมาตรา ก็ต้องเป็นมาตราที่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจและขัดต่อหลักการประชาธิปไตยเป็นสำคัญ เช่น การตัดอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี การนิรโทษกรรม คสช. และผู้เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุด ที่โภคิน เสนอไว้ในรายงานของกรรมาธิการ คือ การต้องมีบทบัญญัติที่ห้ามนิรโทษกรรมการรัฐประหารหรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยให้บทบัญญัติเช่นว่านี้มีค่าเท่ากับประเพณีการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยที่ทุกองค์กรโดยเฉพาะศาล ต้องยึดถือและปฏิบัติตาม 

ดังนั้นพรรคไทยสร้างไทยจึงเห็นว่า รัฐสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายประชามติ ที่เสร็จสิ้นในชั้นกรรมาธิการแล้ว ให้จบวาระ 2 และวาระ 3 เพื่อเสนอโปรดเกล้าฯ ทรงลงประปรมาภิไธยต่อไป และเมื่อมีผลใช้บังคับ นายกรัฐมนตรี องค์กร และผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายต้องรีบทำประชามติ ถามประชาชนว่า สมควรจะมี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างและเห็นชอบโดยประชาชนหรือไม่โดยทันที 

พรรคไทยสร้างไทย ขอเรียกร้อง ให้พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกันผลักดัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ตกไปในวาระ 3 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง และอย่าได้หลงประเด็นไปกับการแก้รายมาตรา ที่ไม่ได้ขจัดการสืบทอดอำนาจ  หรือเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของพรรคตนในการเลือกตั้งเป็นสำคัญ 

ไทยสร้างไทย

โภคิน พลกุล กับ วัฒนา เมืองสุข พรรคไทยสร้างไทย

ด้านวัฒนา เมืองสุข กล่าวว่า เมื่อความที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนซึ่ง ผลของการรับฟังความคิดเห็นประชาชนส่วนใหญ่ต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่าง โดยประชาชน ก็คือร่างโดย ส.ส.ร. รายงานนี้ได้นำเข้าเสนอต่อคณะกรรมธิการ คณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ที่มาจากหลายพรรคการเมือง ก็เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.เช่นกัน จึงนำไปสู่การเสนอร่างแก้ไข รธน. โดยร่างที่เสนอแก้ไข เป็นร่างที่โภคิน ยกร่างขึ้นมาแต่ปรากฎว่า ไปถูกคว่ำในชั้นกรรมาธิการ หากจะมีการเสนอใหม่ พรรคการเมืองทุกพรรคที่เคยให้การสนับสนุนว่า  รัฐธรรมนูญต้องร่างใหม่ โดย ส.ส.ร. ก็ควรสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน มากกว่าที่จะเสนอแก้ไขรายมาตราซึ่งไม่มีเหตุผล  เพราะว่าก่อนหน้านั้น ทุกพรรคการเมืองมีมติ ซึ่งมติดังกล่าว นำมาสู่การแถลงข่าวร่วมกัน ที่รัฐสภา โดยทุกพรรค การเมืองได้ขึ้นเวทีร่วมกันและแถลงว่าจะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.