เออร์เนสโต 'เช' เกบารา (Che Guevara) ซึ่งคนไทยจำนวนหนึ่งเรียกเขาว่า 'เช กูวารา' เกิดเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2471 (ค.ศ.1928) ถ้าหากเขายังมีชีวิตอยู่ วันนี้จะเป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 93 แต่เชเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2510 ขณะมีอายุได้ 39 ปี หลังจากเข้าร่วมกับกองกำลังปฏิวัติโบลิเวีย ต่อสู้กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของนายพลเรเน บาร์เรียนโตส ผู้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น โดยเขาถูกยิงตายหลังถูกทหารโบลิเวียจับกุมพร้อมกับนักรบของกองกำลังปฏิวัติคนอื่นๆ
บทบาทสำคัญที่ทำให้ ‘เช เกบารา’ เป็นที่รู้จักและจดจำไปทั่วโลกในยุคต่อมาคือการเข้าร่วมกับ ‘ฟิเดล กาสโตร’ ผู้นำการปฏิวัติคิวบา ทำสงครามกองโจรโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในยุคประธานาธิบดี ‘ฟุลเกนเซียว บาติสตา’ ได้สำเร็จ ทำให้เขาซึ่งเป็นคนอาร์เจนตินาโดยกำเนิด กลายเป็นบุคคลสำคัญในคิวบามาจนถึงปัจจุบัน และร่างของเขาซึ่งเคยถูกฝังที่โบลิเวียได้ถูกส่งกลับไปยังคิวบาในปี 2540 โดยรัฐบาลคิวบาตั้งอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงเขาโดยเฉพาะที่เมืองซานตากลารา
ประโยคที่เชเคยพูดและถูกยกให้เป็นแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ คือ ตอนที่เขาบอกว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ปลดแอก และย้ำว่า “ผู้ปลดแอกไม่มีจริง” มีแต่ประชาชนที่ปลดแอกตัวเอง ซึ่งประโยคเต็มๆ นั้นเขากล่าวว่า "การปฏิวัติไม่ใช่ผลแอปเปิลที่จะหล่นลงมาเองเมื่อสุกงอม คุณต้องทำให้มันร่วงลงมา ชีวิตมนุษย์คนหนึ่งมีค่ามากกว่าเป็นล้านเท่าเมื่อเทียบกับทรัพย์สินทั้งหมดของคนรวยที่สุดบนโลกนี้ ผมไม่ใช่ผู้ปลดแอก ผู้ปลดแอกไม่มีจริง มีแต่ประชาชนที่ปลดแอกตัวเอง"
“The revolution is not an apple that falls when it is ripe. You have to make it fall. The life of a single human being is worth a million times more than all the property of the richest man on earth. I am not a liberator. Liberators do not exist. The people liberate themselves.” (หนังสือ A Revolutionary Manifesto Comandante Ernesto Che Guevara: For The Lieberation of All People)
การแพทย์เพื่อสังคม - เจตนารมณ์ของอดีตนักเรียนแพทย์
หลังจากปฏิวัติคิวบาสำเร็จ เชได้รับตำแหน่งประธานธนาคารแห่งชาติคิวบา และรัฐมนตรีอุตสาหกรรม แต่อีกประเด็นหนึ่งที่เขาถูกยกย่องว่าเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจที่สำคัญคือการวางรากฐานระบบสาธารณสุขคิวบา เพราะก่อนจะผันตัวมาเป็นนักปฏิวัติ เขาเป็นนักศึกษาแพทย์มาก่อน และสุนทรพจน์หนึ่งของเขาที่หลังการปฏิวัติพูดถึงภารกิจส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ทั้งหมด มีเป้าหมายด้านการแพทย์เพื่อสังคม
แนวคิดเรื่องการแพทย์เพื่อสังคมนำไปสู่ระบบสุขภาพที่ประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครองดูแลถ้วนหน้า (Universal Healthcare) และกลายเป็นจุดแข็งของคิวบา แม้ว่าภายหลังรัฐบาลฟิเดล กาสโตร ที่เชเคยร่วมรบด้วยจะถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘เผด็จการ’ เพราะใช้อำนาจปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ ทั้งยังอยู่ในอำนาจยาวนานหลายสิบปี แต่มาตรา 50 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญคิวบาไม่ถูกเปลี่ยน โดยเนื้อหาในมาตรานี้ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองดูแลด้านสุขภาพ และรัฐต้องรับประกันสิทธิด้านนี้ด้วยการจัดหาบริการทางการแพทย์โดยที่ประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องจัดตั้งเครือข่ายทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งศูนย์อนามัย, คลินิก และโรงพยาบาล
เมื่อตอนที่เกิดโรคไข้เลือดออกอีโบลาในแอฟริกาหนักๆ ในปี 2560 คิวบาเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกบุคลากรการแพทย์ไปช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดครั้งนั้น ทำให้สื่อตะวันตกเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นนโยบายการแพทย์เพื่อการทูต ช่วยให้คิวบาได้รับการยอมรับจากหลายประเทศแม้จะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอยู่ก็ตาม แม้แต่พลทหารโบวิเลียที่เคยมีส่วนร่วมในการสังหารเชก็ได้รับความช่วยเหลือจากทีมแพทย์คิวบาภายหลัง และช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด คิวบาก็ส่งคณะแพทย์และบุคลากรการแพทย์ หรือ 'ทีมชุดขาว' ไปช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกัน
'ด้านมืด' หรือ 'ธรรมชาติของมนุษย์' ?
แม้เชจะเป็นที่เคารพยกย่องในคิวบาและอีกหลายประเทศ แต่เขาก็มี ‘ด้านมืด’ ที่ถูกบันทึกไว้เช่นกัน โดยสื่อฝั่งอนุรักษนิยมในสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการคว่ำบาตรคิวบา รายงานว่าเชปราบปรามผู้ถูกมองว่าเป็นศัตรูแห่งการปฏิวัติด้วยความรุนแรง เด็ดขาด ไร้ความปรานี แม้ว่าในยุคหลังเขาจะกลายเป็นสัญลักษณ์ยอดนิยมในวัฒนธรรมป็อปทั่วโลกก็ตามที
ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ เช มีส่วนร่วมกับ 'ฟิเดล กาสโตร' ประหารนักโทษทางการเมืองที่เป็นแนวร่วมของอดีตรัฐบาลเผด็จการบาติสตาไปพันกว่าราย โดยไม่พิจารณาไต่สวนเหตุผลของการเข้าร่วมกับบาติสตาว่าเพราะเห็นด้วยในแง่อุดมการณ์ หรือเพราะคนเหล่านั้นเป็นเพียงพลเมืองไร้อำนาจต่อรองจนต้องเข้าร่วมกับอดีตรัฐบาลเผด็จการ
นอกจากนี้เขายังเห็นด้วยกับการลงโทษใช้แรงงานหนักกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ โดยนักข่าวที่เคยได้ไปเห็นสภาพในค่ายกักกันระบุว่าผู้ที่ถูกลงโทษต้องทำงานกว่า 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีผู้คุมพร้อมอาวุธปืนตรึงกำลังอยู่โดยรอบ ซึ่งเชเป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้มีการลงโทษกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเป็นระบบ และถ้ามองในมุมของนักสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือการละเมิดสิทธิที่ไม่อาจหาข้อแก้ตัวได้
อีกประเด็นที่สะท้อนแนวคิดอำนาจนิยมคือเชไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่อง ‘เสรีภาพสื่อ’ โดยเขาเคยพูดว่าถ้ายังมีสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพสื่อ การปฏิวัติจะไม่มีวันสำเร็จ และเขายังสนับสนุนให้รัฐบาลคิวบายุคหลังการปฏิวัติสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสื่อประเภทอื่นๆ ให้หมด แต่ผู้ที่สนับสนุนเชจำนวนไม่น้อยมองว่าการตัดสินใจในบางเรื่องของเขาอาจผิดพลาด ซึ่งเป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่บทบาทของเชมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม และสร้างคุณูปการต่อคนรุ่นหลังเช่นกัน