Skip to main content

เสาไฟฟ้าราคาแพงไม่ได้เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามในทยอย่างเดียว เพราะโครงการปรับปรุงระบบเสาไฟของเมืองซานตาเฟในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกับ ‘เสาไฟฟ้าประดับกินรี’ ของไทย ทั้งข้อหา "ราคาแพงเกินไปหรือไม่" และ "ทำไมต้องรีบติดตั้ง" ในช่วงที่คนในสังคมเพิ่งจะเริ่มฟื้นจากวิกฤตโรคโควิด-19 แพร่ระบาด

กรณีของไทย 'เสาไฟฟ้าประดับรูปปั้นกินรี' จำนวนกว่า 6,000 ต้น ถูกติดตั้งที่ ต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ใช้งบประมาณไปกว่า 642 ล้านบาท แต่มีผู้ตั้งข้อสงสัยถึงความจำเป็นในการติดตั้งและความโปร่งใสของขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณและการดำเนินการก่อสร้างโครงการ เพราะระยะห่างของการตั้งเสาไฟฟ้านั้นถี่กว่าปกติ โดยห่างกันแค่ประมาณ 10-14 เมตร ผิดไปจากรายละเอียดในเอกสารซึ่งระบุว่าจะติดตั้งในระยะห่าง 20 เมตร ทั้งยังมีคำถามเรื่องความสว่างและความคุ้มค่า 

ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบดูข้อเท็จจริง เทียบกับข้อมูลที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เคยชี้แจงก่อนหน้า โดยตำรวจได้ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการติดนี้เป็นโครงการเก่าที่เคยถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบในปี 2556 และเรียกให้ อบต.ราชาเทวะ คืนเงินงบประมาณ 67 ล้านบาท เพราะพบว่าไม่มีหนังสืออนุญาตอย่างเป็นทางการ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อยุติ และยังไม่มีการคืนเงินงบประมาณส่วนนี้

การสอบสวนเสาไฟฟ้ากินรี เริ่มจากที่ 'ศรีสุวรรณ จรรยา' เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยแพร่ข่าวว่าตนเองได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรมกินรี พลังงานโซลาร์เซลล์ ของ อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พบว่าเสาไฟฟ้าแต่ละต้นมีราคากว่า 94,000 บาท ทั้งยังติดตั้งในซอยขนาดเล็กและบนถนนทางหลวงมาตั้งแต่ปี 2556-2564 รวมเป็นระยะเวลา 8 ปี เกี่ยวพันกว่า 10 สัญญา วงเงินกว่า 734 ล้านบาท แต่มีเพียงบริษัทเอกชนรายเดียวที่สามารถประมูลงานดังกล่าวได้

'โครงการร้อน' ทำไมต้องรีบ VS ทำไมต้องรอ

กรณีของเมืองซานตาเฟในสหรัฐฯ สมาชิกสภาบริหารส่วนท้องถิ่นได้ยื่นคำร้องให้ระงับโครงการเปลี่ยนระบบเสาไฟฟ้าที่ให้บริการตามท้องถนนและพื้นที่สาธารณะทั่วเมืองกว่า 5,600 จุด เพราะใช้งบประมาณกว่า 2.75 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 82.5 ล้านบาท) โดยที่โครงการนี้เป็นส่วนย่อยของแผนปรับปรุงระบบไฟฟ้าและประปาของเมือง ที่ได้รับอนุมัติวงเงินทั้งหมด 17.2 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 516 ล้านบาท)

'ไมค์ การ์เซีย' นายกเทศมนตรีของเมือง แถลงว่าการปรับเปลี่ยนระบบเสาไฟฟ้าเพื่อให้สามารถรองรับหลอดไฟ LED ที่ประหยัดไฟและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่ากับหลอดไฟแบบเดิม พร้อมตอบคำถามเรื่อง "ทำไมต้องรีบ" ด้วยการถามกลับว่า "ทำไมต้องรอ" โดยเขาย้ำว่าการปรับปรุงระบบเสาไฟฟ้าและท่อประปาของเมืองเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อจะเปลี่ยนให้ระบบสาธารณูปโภคนี้ประหยัดพลังงานมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนของรัฐบาลที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและปัจจัยก่อเกิดภาวะโลกร้อนให้ได้ภายในปี 2040 (ฑ.ศ2583)

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ร้องเรียนให้ตรวจสอบความคุ้มค่าของโครงการ ทางสภาบริหารส่วนท้องถิ่นก็ยอมรับคำร้องและระงับการเริ่มโครงการ ทั้งยังจัดเวทีอภิปราย รับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดให้บริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาเพิ่มเติม เพื่อถ่วงดุลกับฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ จนกระทั่งผ่านการเห็นชอบจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จึงได้เริ่มเดินหน้าโครงการ 

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนระบบเสาไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะของหลายประเทศทั่วโลก ใกล้เคียงกับการเสนอติดตั้งระบบโซลาร์เซลส์ของฝั่งไทย เพราะต้องการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าพลังงานถ่านหินหรือพลังงานน้ำที่กระทบต่อพื้นที่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ หลายประเทศแถบจึงพิจารณาเรื่องติดตั้งเสาไฟฟ้าที่ให้แสงจากพลังงานลม เช่น สหราชอาณาจักรและเยอรมนี ซึ่งคำนึงถึงเรื่องประโยชน์ใช้สอยมากกว่าจะคำนึงถึงเรื่องการประดับตกแต่งเสาไฟด้วยรูปปั้นต่างๆ