Skip to main content
  • แอปพลิเคชัน 'คลับเฮาส์' มีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก
  • ผู้ก่อตั้งเรียกแอปนี้ว่า “เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ใช้วิธีแชตด้วยเสียง”
  • แอปมีจุดเด่นที่ความเป็นส่วนตัวและหัวข้อพูดคุยที่แตกต่างหลากหลาย
  • มีผู้วิจารณ์ว่าเป็นแอปฯ 'เลือกปฏิบัติ' เพราะจำกัดเฉพาะผู้ใช้งานไอโฟน
  • ผู้ใช้ไอโฟนในประเทศไทยคิดเป็น 25.5% ของผู้ใช้สมาร์ตโฟนทั้งหมด

::: แอปฯ ดังเพราะคนดังเข้าร่วม? :::

พอล เดวิสัน และโรฮาน เซ็ท เป็นผู้ผลักดัน Clubhouse แอปพลิเคชันสนทนาด้วยเสียง หรือ Audio Chat App ขึ้นมาทดลองใช้งานในระบบเบต้ากับไอโฟน เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2563 โดยเว็บไซต์ Business of App รายงานว่า ปัจจุบัน มีผู้ใช้ไอโฟนดาวน์โหลดคลับเฮาส์ไปใช้งานแล้วมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก โดยมีผู้สนใจลงทุนและประเมินว่าแอปนี้มีมูลค่าธุรกิจราว 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท)

ส่วนอัตราการดาวน์โหลดแบบก้าวกระโดดเกิดขึ้นช่วงเดือน ม.ค.จนถึงต้นเดือน ก.พ.2564 โดยเวลาไม่ถึงสองเดือนที่ผ่านมา มีผู้ดาวน์โหลดคลับเฮาส์เกือบ 8 ล้านคน หลังมีคนดังระดับโลกเข้าร่วมและชื่นชมแอปนี้ในสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ เช่น อีลอน มัสก์, โอปราห์ วินฟรีย์, มาร์ก แอนดรีสเซน ไม่เว้นแม้แต่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กที่เป็นสื่อสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่อยู่แล้ว

เว็บไซต์ How To Geek ระบุว่า คลับเฮาส์โดดเด่นกว่า ‘พอดแคสต์’ และ ‘ซูม’ ในตอนนี้ เพราะบุคคลที่ร่วมใช้งานไม่ได้มีแค่คนในแวดวงธุรกิจ-เทคโนโลยี แต่รวมถึงกลุ่มคนดังหลากหลายสาขาอาชีพ ทำให้ผู้ใช้แอปตั้งกลุ่มพูดคุยในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ มีทั้งการทอล์กโชว์ การทำกิจกรรมสร้างเครือข่าย การแสดงดนตรี ละคร การนัดเดต รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง และมีผู้ลงความเห็นว่า คลับเฮาส์คือเครื่องมือสื่อสารที่จะกลายเป็นอนาคตแห่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะใช้งานง่าย มีผู้พูดที่น่าสนใจร่วมใช้งานเยอะ และเปิดให้ผู้ฟังพร้อมกันได้ถึงครั้งละ 5,000 คน

นอกจากนี้แอปยังสามารถตั้งค่า ‘ปิดกั้น’ กลุ่มคนที่ผู้พูดหรือโมเดอเรเตอร์ไม่อยากให้เข้าร่วมรับฟังได้ ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศในการสนทนาไม่ถูกเบี่ยงเบนประเด็น ไม่ถูกคนบางกลุ่มปั่นป่วนการพูดคุยจนสูญเสียความน่าสนใจ ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการพูดคุยสาธารณะหลายๆ ครั้ง

::: คนเข้าถึงได้เฉพาะกลุ่ม สร้างความรู้สึก “ไม่อยากตกขบวน” :::

ข้อดีของคลับเฮาส์ที่สื่อดิจิทัลหลายสำนักวิเคราะห์เอาไว้ คือ วิธีการสื่อสารด้วยเสียง กึ่งๆ พอดแคสต์และกึ่งๆ การจัดรายการวิทยุในอดีตที่เผยแพร่ข้อมูลแบบถ่ายทอดสดแล้วมีคนได้รับเชิญให้ไปร่วมพูดคุยผ่านโทรศัพท์ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทำให้ผู้ร่วมฟังการสนทนารู้สึกใกล้ชิดกับผู้พูด ที่หลายคนเป็นบุคคลมีชื่อเสียงอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การเข้าร่วมคลับเฮาส์นั้นก็ไม่ใช่แค่ใครก็ได้ที่จะสามารถเข้ามาฟัง เพราะยังจำกัดอยู่แค่ผู้ใช้ไอโฟนที่ได้รับเชิญจากคนที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อน จึงเป็นการสื่อสารแบบ Exclusive ที่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ มีส่วนสร้างความรู้สึกให้ผู้ใช้งานจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าต้องเข้าร่วมเพราะ “ไม่อยากตกขบวน”

ประเด็นสำคัญอีกอย่าง คือ คลับเฮาส์ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานบันทึกเสียงสนทนา เมื่อการพูดคุยจบลง เสียงทั้งหมดก็จะหายไปด้วย ไม่มีการผลิตซ้ำ แม้จะมีผู้พยายามบันทึกเสียงสนทนาของคลับเฮาส์จากภายนอก เช่น การพยายามไลฟ์สตรีมวิธีใช้งานแอปคลับเฮาส์ผ่านทางยูทูบ แต่ผู้ที่ใช้วิธีนี้มักจะถูกบล็อกไม่ให้เข้าร่วมการสนทนาครั้งต่อไป

::: พื้นที่แสดงความคิดเห็น หรือแค่เป็นการเลือกปฏิบัติ? :::

กระแสความนิยมคลับเฮาส์เริ่มถูกตั้งคำถามในบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งเว็บไซต์ Korea Times รายงานว่า นักแสดงชาย ‘คิมจีฮุน’ และแรปเปอร์ ‘ดินดิน’ คนดังในวงการบันเทิง วิจารณ์ว่าการเชิญได้เฉพาะกลุ่มผู้ใช้ไอโฟนเข้าร่วมแอป ทำให้เกิดการแบ่งแยก และคนที่เหลือรู้สึกเหมือนถูกกีดกัน ทั้งยังกลายเป็นช่องทางให้มีผู้ฉวยโอกาสสร้างรายได้จากการซื้อขาย ‘คำเชิญ’ เข้าร่วมคลับเฮาส์ โดยโคเรียไทม์สรายงานว่ามีผู้ประกาศขายคำเชิญเข้าร่วมคลับเฮาส์ในราคา 10,000 – 20,000 วอน

สื่อเกาหลีใต้รายงานว่านี่อาจเป็นการสร้างความรู้สึกว่าคนที่ได้เข้าร่วมมีบางอย่าง ‘เหนือกว่า’ คนที่ไม่ได้เข้าร่วม และชี้ว่าการใช้แอปได้เฉพาะกับระบบปฏิบัติการ iOS ของไอโฟน ทำให้ผู้ใช้ระบบอื่นๆ เช่น แอนดรอยด์ ซึ่งเป็นผู้ใช้กลุ่มใหญ่ของตลาดสมาร์ตโฟนในเกาหลีใต้ เข้าไม่ถึงการสนทนา จึงไม่ต่างอะไรกับการเลือกปฏิบัติ และไม่ใช่การสื่อสารที่เปิดกว้างต่อสาธารณะ

กรณีของประเทศไทยก็คล้ายเกาหลีใต้ เพราะผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ของไอโฟน โดยเว็บไซต์ StatCounter ได้รายงานสถิติล่าสุด เดือน ม.ค.2564 พบว่าผู้ใช้ไอโฟนในไทยคิดเป็น 25.5% ของผู้ใช้สมาร์ตโฟนทั้งหมด อีก 74.47% เป็นผู้ใช้ระบบแอนดรอยด์และอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้งคลับเฮาส์ยืนยันว่าจะพัฒนาแอปต่อไปให้ “คนทั่วโลก” เข้าถึงได้ในอนาคต จึงตีความได้ว่า ในระยะต่อไปผู้ใช้ระบบปฏิบัติการอื่นๆ ก็น่าจะใช้งานได้เช่นกัน

::: ห้องสนทนาที่ไร้การบันทึก “ไม่ใช่ความลับ” และอาจเป็นแหล่งข้อมูลบิดเบือน :::

เว็บไซต์ e27 และ Reuters รายงานว่าผู้ใช้งานในประเทศจีนดาวน์โหลดแอปนี้มาใช้งานเพื่อพูดคุยถึงสิทธิเสรีภาพและประเด็นการเมืองหรือสังคมอื่นๆ ที่ถูกปิดกั้นในสื่อสังคมออนไลน์ของจีนตามปกติ แต่มีรายงานเมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจีนได้สั่งบล็อกการเข้าถึงคลับเฮาส์ในประเทศไปเรียบร้อยแล้ว บ่งชี้ว่าแม้การสนทนาจะไม่มีการบันทึกเสียงหรือมีระบบเก็บข้อมูลให้สืบค้นภายหลัง แต่ก็อาจจะหนีไม่พ้นการถูกดักฟังจากรัฐที่พยายามควบคุมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

ขณะที่เว็บไซต์ VICE รายงานว่า การไม่สามารถบันทึกข้อมูลในห้องสนทนาของคลับเฮาส์ อาจเปิดโอกาสให้การเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนเกิดขึ้นในวงกว้างโดยไม่ถูกตรวจสอบ พร้อมยกตัวอย่างกรณี ‘ชาคาบาร์ คลาร์ก’ ผู้ก่อตั้งองค์กรการกุศลที่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมมากกว่า 1 ล้านคน ใช้ห้องสนทนาในคลับเฮาส์กล่าวโจมตีการฉีดวัคซีนต้านโควิดว่าเป็นเพียงการหารายได้ของบริษัทยา ทั้งยังกล่าวหาสถาบันวิจัยต่างๆ ว่ารับเงินจากบริษัทยาและรัฐบาลบางประเทศในการเผยแพร่ข้อมูลชวนเชื่อเกี่ยวกับวัคซีนโควิด แต่ไม่มีการอ้างอิงหลักฐานประกอบข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้พูดบางคนในคลับเฮาส์ได้เผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิด รวมถึงพูดส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้มีเชื้อสายยิว กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ รวมถึงบุคลากรการแพทย์ที่รณรงค์ให้คนฉีดวัคซีนต้านโควิดในสหรัฐอเมริกา

ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์ e27 จึงประเมินว่า คลับเฮาส์ที่มีเจตนาดีในตอนก่อตั้ง อาจกลายสภาพไปเป็นยักษ์ใหญ่ในตลาดสื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมในปัจจุบัน เพราะเมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้น การควบคุมหรือกำกับดูแลการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ ปราศจากการกลั่นแกล้งรังแก การเลือกปฏิบัติ และการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือน จะไม่สามารถทำได้อย่างทั่วถึง