Skip to main content

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ทำกิจกรรมอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเป็นกลางในการพิจารณาและดำเนินคดีความ ใน 5 สถานที่ ประกอบด้วย 1.ศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ 2.กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ 3.ศาลอาญารัชดา ถนนรัชดาภิเษก 4.สำนักงานตำรวจแห่งชาติถนนพระราม 1 และ 5.สำนักนายกรัฐมนตรี ถนนพิษณุโลก โดยจะเริ่มกิจกรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญในเวลา 09.00 น. ของวันนี้ (16 ก.พ.)

ใจความของจดหมายเปิดผนึกนี้ ระบุว่า ขอให้กระบวนการยุติธรรม เป็นไปอย่างธรรมที่สุด โดยเฉพาะกรณี 4 แกนนำที่ถูกคุมขัง ไป ทั้งที่การไต่สวนยังไม่เริ่ม เพิ่งส่งฟ้อง นั่นหมายถึง ขั้นตอนการพิจารณาคดียังไม่เริ่มต้นขึ้น จึงต้องถูกอนุมานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่ผู้กระทำผิด รวมถึงการระบุว่า มีการกระทำผิดซ้ำ ถือเป็นการตัดสินล่วงหน้า จึงถือเป็นการตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงขั้นตอนการปฏิบัติกับผู้ชุมนุม ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ รุ้ง ระบุ ไม่มีเจตนากดกันหรือเเทรกเเซงการทำงานของศาล เเต่เป็นขั้นตอนปกติของประชาชนที่สามารถยื่นหนังสือให้กับหน่วยงานเเละส่วนตัวขอให้หน่วยงานต่างๆ รับไปพิจารณาตามข้อเรียกร้องด้วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่จัดต่อหลักการ เเละรัฐธรรมนูญ

และในวันพรุ่งนี้ (17 ก.พ.) ที่พนักงานอัยการจะพิจารณาส่งฟ้องศาลอาญานั้น ส่วนของตัวเองเตรียมใจไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะในคดีที่ถูกดำเนินคดีเป็นข้อหาเดียวกับเพนกวิน และแกนนำทั้ง 4 ตามมาตรา 112 และ 116 จึงเชื่อว่าจะส่งฝากขัง และเข้าเรือนจำ เหมือนกับแกนนำทั้ง 4 อีกทั้งไม่ต้องการให้ได้รับการประกันตัว

ส่วนการชุมนุม เชื่อว่า ไม่มีผลกระทบ ยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะยังมีมวลชนอีกมากมายแม้จะไม่มีแกนนำ แต่ก็ยอมรับว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา รู้สึกเสียใจ อยากขอโทษที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์และมวลชนได้ ขอโทษที่ทำให้เจ็บตัว แต่ขอโอกาสให้ได้กลับมาทำหน้าที่ โดยยืนยันว่าจะพยายามดูแลให้เป็นการชุมนุมโดยสันติ และจะพยายามไม่ให้เกิดความสูญเสียลักษณะเดิม

ทั้งนี้ในวันที่ 20 ก.พ. นี้ จะยังเกิดขึ้น แต่รูปแบบจะออกมาเป็นอย่างไร หรือเคลื่อนไหวเป็นเเบบไหนขอให้รอดู ซึ่งตนเองยังไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ตนอาจจะไม่ได้อยู่จุดนี้เเล้ว

::: ภาคีนักกฎหมายฯ เรียกร้องศาลใช้อำนาจโดยปราศจากอคติ เคารพจริยธรรมข้าราชการตุลาการ :::

ด้านภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกคำประกาศภาคีฯ ถึง คนในกระบวนการยุติธรรม โดยยกประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ หมวด 1 อุดมการณ์ของผู้พิพากษา ข้อ 1 ระบุว่า หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษาคือ การประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ทั้งจพร้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่า คนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนเอง และเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ

และกล่าวถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, และปติวัฒน์ สหรายแย้ม หรือหมอลำแบงก์ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื้อหาของคำสั่งเหมือนว่า ศาลพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว ขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้"

และด้วยความเคารพต่อคำสั่งศาลดังกล่าว ภาคีฯ มีความเห็นในฐานะผู้มีวิชาชีพนักกฎหมายเช่นเดียวกับศาล มีศักดิ์และสิทธิโดยทัดเทียมกันต่อหน้ากฎหมายว่า ศาลมิได้มีหน้าที่เพียงตัดสินคดีระหว่างบุคคลกับบุคคลให้เป็นไปโดยยุติธรรมเท่านั้น แต่มีหน้าที่สำคัญคือการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดีให้มีความเป็นธรรมระหว่างบุคคลกับรัฐและหรือสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

"หากจำเลยและประชาชนโดยทั่วไป ไม่อาจสัมผัสได้ถึงการใช้อำนาจตุลาการโดยปราศจากอคติ ภายใต้กระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรม อันจะนำไปสู่ความยุติธรรมในปลายทางเสียแล้ว สถาบันตุลาการนั่นเองที่จะถูกพิพากษาโดยมติของสาธารณชน" เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุ