Skip to main content

สรุป

  • Stagflation คือภาวะที่เศรษฐกิจโตช้า อัตราการว่างงานสูง พร้อมกับภาวะเงินเฟ้อไปพร้อมกัน
  • Stagflation ทำให้คนเอาเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบน้อยลง แล้วเงินที่ใช้จ่ายก็ยังทำให้พวกเขาซื้อสินค้าได้น้อยลงจากเดิม
  • ไทยได้รับผลกระทบเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ต้นทุนสินค้าที่ผลิตแพงขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกลับโตตามไม่ทันคนอื่น

ช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกกำลังกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ หลังตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พุ่งถึง 4% ทั้งการมาตรการพิมพ์เงินอัดฉีดเงินเข้าระบบ การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจยุคโควิด-19 ของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่สำหรับประเทศไทยที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจากโควิด-19 วัคซีนก็ยังฉีดไปได้ไม่เท่าไหร่ แล้วต้องประสบกับภาวะเงินเฟ้อที่ข้าวของแพงขึ้น จนอาจเข้าสู่ภาวะ Stagflation

Stagflation คืออะไร?

Stagflation มาจากการผสมคำระหว่าง Stagnation (ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน) + Inflation (ภาวะเงินเฟ้อ) เป็นคำที่ใช้อธิบายช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้น

ช่วงปี 1970 กว่าๆ สหรัฐฯ เกิดวิกฤตน้ำมัน ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงส่งผลให้ราคาสินค้าอื่นๆ สูงขึ้นตามไปด้วย แต่เศรษฐกิจถดถอย คนถูกเลย์ออฟมากมาย จีดีพีโตติดลบติดต่อกัน 5 ไตรมาส แต่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 1973 แล้วก็ขึ้นมาเกิน 10% ในปี 1974 ส่วนอัตราการว่างงานช่วงพ.ค. 1975 ก็พุ่งขึ้นมาถึง 9%

หากถามว่า Stagflation ไม่ดียังไง? ตามทฤษฏีแล้ว เมื่อเศรษฐกิจโตช้า อัตราว่างงานสูงขึ้น ราคาสินค้าไม่ควรจะเพิ่มขึ้น เพราะอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีกำลังการใช้จ่ายเงินลดลง แต่ถ้ากำลังการใช้จ่ายก็ลดลง เงินที่มีสูญเสียมูลค่าไปเพราะเงินเฟ้ออีกด้วย หมายความว่า นอกจากคนจะเอาเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบน้อยแล้ว เงินที่ใช้จ่ายก็ยังทำให้พวกเขาซื้อสินค้าได้น้อยลงจากเดิมอีกด้วย

ย้อนดูเศรษฐกิจไทย

เราได้ทำความเข้าใจนิยามของ Stagflation ไปแล้ว ก็ลองย้อนกลับมาดูเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจำเป็นต้องมองเทียบกับเศรษฐกิจโลกด้วยจึงจะเห็นภาพใหญ่ว่าไทยอยู่ตรงไหน

หากไปดูตัวเลขเศรษฐกิจโลก ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะโต 5.5% ในปีนี้ และหากไปดูอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 6.1% ส่วนการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจก็อยู่ที่ประมาณ 6-8% ซึ่งสูงกว่าปกติ เพราะเมื่อฉีดวัคซีนกันแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เริ่มกลับมา ประกอบกับแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลขนาดใหญ่อีก ขณะที่เศรษฐกิจจีนก็คาดว่าจะเติบโตราว 8% ขณะที่ไทยคาดว่าจะเติบโต 2%

ส่วนเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นก็ไม่ได้สูงแค่ในประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตดีเท่านั้น เราเริ่มเห็นสัญญาณว่า สินค้าหลายอย่างเริ่มขาดแคลน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่เหล็ก ทอง เงิน พาลาเดียม ทองแดง ไปจนถึงน้ำตาล ข้าวโพด พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก หลังจากราคาทรงๆ มานานหลายปี แม้แต่ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ขนสินค้าก็ยังขาดแคลน 

จะเห็นได้ว่าราคาทุกอย่างเพิ่มขึ้นนั้นกระทบทั่วโลก ไทยเองที่ต้องซื้อสินค้าเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย ต้นทุนสินค้าที่ผลิตก็จะแพงไปด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจเราโตตามไม่ทันคนอื่น

มีทางแก้ไหม?

ข่าวร้ายคือ นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายยังตอบไม่ได้ชัดเจนเลยว่าสาเหตุของ Stagflation คืออะไรกันแน่ ทางแก้ก็เลยไม่ชัดเจนเช่นกัน แต่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายลงความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจจะต้องเพิ่มขึ้นให้ถึงจุดที่จะทำให้สามารถเศรษฐกิจเติบโตได้ดีขึ้น โดยที่ไม่ทำให้เงินยิ่งเฟ้อไปกว่านี้ เมื่อทำได้แล้ว รัฐบาลก็จะสามารถออกมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นได้ เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ทางแก้ที่ว่าก็ไม่ได้ทำจริงได้ง่ายนัก ดังนั้น ป้องกันไม่ให้เกิด Stagflation ย่อมดีกว่าการหาทางแก้ทีหลัง

แหล่งอ้างอิง:

Bureau of Labor Statistics, The Conference Board, Etymonline, IMF, Live Mint, S&P Global Ratings, กระทรวงการคลัง